ความรู้ทั่วไปเรื่องช้างป่าเอเชีย

Home / ความรู้ทั่วไปเรื่องช้างป่าเอเชีย

ร่างกายของช้างป่า

“ช้าง ช้าง ช้าง น้องเคยเห็นช้างหรือเปล่า ช้างมันตัวโตไม่เบา จมูกยาว ๆ เรียกว่า งวง มีเขี้ยวใต้งวง เรียกว่า งา มีหู มีตา หางยาว”

เราน่าจะคุ้นเคยกันดีกับเพลงช้างที่ติดหูเรามาตั้งแต่วัยเด็ก สิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ 4 เท้าที่เมื่อโตเต็มวัยแล้วอาจสูงได้มากถึง 3.5 เมตร มีน้ำหนักมากถึง 6,000 กิโลกรัม มีลักษณะเฉพาะตัวที่คุ้นตาเรา ๆ มากก็คือ “งวง” ซึ่งเป็นเนื้อส่วนจมูกที่ยื่นออกมาใช้สำหรับดมกลิ่นสิ่งแวดล้อม ดูดน้ำ หยิบหรือจับสิ่งของหรือแม้แต่การสื่อสารกันระหว่างช้างเอง และอีกอย่างก็คือ “งา” ซึ่งเป็นฟันเขี้ยวคู่บน สีค่อนข้างขาว พบได้ในช้างตัวผู้บางตัว แต่จะไม่พบในช้างตัวเมียซึ่งเราจะเรียกว่า “ขนาย” ในหลายครั้ง งาช้างมักถูกใช้เป็นอาวุธป้องกันตัวเองของช้างป่าจากภัยคุกคามหรือแม้กระทั่งต่อสู้กันเองก็มี

นอกจากร่างกายที่ใหญ่โตพร้อมทั้งงวงและงาที่โดดเด่นแล้ว ใบหูและหางของช้างยังมีความน่าสนใจตรงที่ใช้แสดงความรู้สึกได้อีกด้วย หากเราพบเห็นช้างป่ากำลังหากินอยู่ท่ามกลางป่าที่ปลอดภัย เราจะเห็นช้างแกว่งหู สะบัดหางคล้ายด้วยอิริยาบถที่ไม่รีบร้อน ไม่ระแวงระวังและดูผ่อนคลาย แต่ในขณะที่ช้างโกรธหรือไม่พอใจ ให้สังเกตได้เลยว่าใบหูจะกางออกข้างลำตัวเป็นแผ่นกว้าง บางครั้งอาจชูงวงและส่งเสียงขู่ใส่ภัยคุกคาม และเมื่อช้างพร้อมจะโจมตี มันจะชูหางตั้งตรงขึ้นฟ้าและพุ่งตัวเข้าใส่ภัยคุกคามนั้น ๆ อย่างไม่ลังเล เห็นอย่างนี้แล้ว ถ้าได้เข้าไปเห็นช้างในธรรมชาติ ก็ต้องรู้จักสังเกตพฤติกรรมช้างให้ดี และรักษาระยะห่างระหว่างกันและกันจะดีที่สุด

Elephant feeding grass happily
ช้างโขลงกำลังหากินในทุ่งหญ้าอย่างผ่อนคลาย ซึ่งสังเกตได้จากการแกว่งหูและหางอย่างไม่เร่งรีบ, ภาพโดยบุตดา โชติมานวิจิต

ครอบครัวช้างป่า

ช้างป่าเป็นสัตว์สังคม อยู่รวมกันเป็นฝูง เราเรียกว่า “โขลง” ซึ่งในโขลงนี้จะประกอบด้วยช้างผู้นำที่เป็นช้างตัวเมีย ตัวใหญ่ที่สุด มีอายุเยอะพร้อมกับประสบการณ์ในการนำทางและดูแลฝูงมากที่สุด เราเรียกช้างผู้นำนี้ว่า “จ่าโขลง” หรือ “แม่แปรก (อ่านว่า แม่-ปะ-แหรก)” และช้างตัวเมียที่อาจจะเป็นน้อง ลูกหรือหลานของช้างแม่แปรกในแต่ละโขลง และช้างตัวผู้ที่ยังไม่โตเต็มวัย  แต่เมื่อช้างตัวผู้โตเต็มวัยแล้ว มันจะถูกช้างตัวเมียขับออกจากฝูงให้ออกไปหากินเองหรือไปรวมกลุ่มกับช้างตัวผู้วัยรุ่นตัวอื่น ๆ วิธีนี้เป็นการป้องกันการผสมพันธุ์ระหว่างเครือญาติของช้างป่า ทำให้ช้างป่ามีพันธุกรรมที่หลากหลายหรือทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้มากขึ้น

ประเทศไทยมีศัพท์เรียกช้างแบ่งตามเพศและลักษณะของช้างด้วย เราเรียกช้างตัวเมียว่า “ช้างพัง” เช่น พังชบาแก้ว  ช้างตัวผู้ที่มีงา เราจะเรียกว่า “ช้างพลาย” เช่น พลายทองผาภูมิ ส่วนช้างตัวผู้ที่ไม่มีงา เราก็จะเรียกว่า “ช้างสีดอ หรือ สีดอ” เช่น สีดอแดงในป่าจังหวัดฉะเชิงเทรา  อีกข้อที่น่าสนใจก็คือลักษณนามของช้าง นอกจากเรานับจำนวนช้างฝูงว่าโขลงแล้ว เรานับจำนวนช้างแต่ละตัวโดยใช้ลักษณนามของช้างป่าเป็น “ตัว” แต่ถ้าเป็นช้างเลี้ยง เราจะนับว่า “ช้าง 1 เชือก” และหากนำช้างมาขึ้นระวางคือนำมาเข้าทำเนียบหรือเข้าประจำการ ลักษณนามของช้างขึ้นระวางจะใช้คำว่า “ช้าง”

Elephant family
ภาพโขลงช้างที่ประกอบด้วยช้างแม่แปรกตัวใหญ่ที่สุดในกลุ่ม พร้อมช้างตัวเมียและลูกหลานที่กำลังหากินอาหารอยู่ในทุ่งหญ้าของอุทยานแห่งชาติกุยบุรี, ภาพโดยบุตดา โชติมานวิจิต

อีกหนึ่งเกร็ดความรู้ที่น่าสนใจเกี่ยวกับร่างกายและครอบครัวของช้างป่าก็คือ เราสามารถประมาณอายุของช้างโดยใช้ส่วนสูงของช้าง โดยทั่วไปแล้ว นักวิทยาศาสตร์จะแบ่งช่วงอายุช้างออกเป็น 4 ช่วง ตามอายุและความสูง ดังนี้
1. ลูกช้างเล็ก (calves) มีอายุน้อยกว่า 1 ปี
2. ลูกช้างโต (่juveniles) อายุ 1-5 ปี
3. ช้างวัยรุ่น (sub-adults) อายุ 5-15 ปี
4. ช้างวัยเจริญพันธุ์ (adults) อายุมากกว่า 15 ปี

ช่วงชั้นอายุช้าง
ภาพวาดโดย ภควัต ทวีปวรเดช

ถิ่นที่อยู่อาศัย และอาหารการกิน

ช้างเอเชียเป็นสัตว์ที่มีการกระจายตัวหรืออยู่อาศัยได้ในสิ่งแวดล้อมที่หลากหลายตั้งแต่ทุ่งหญ้า ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบเขา หรือแม้กระทั่งป่าปลูกของมนุษย์ เช่น สวนป่าสักหรือสวนยางพารา นอกจากป่าที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพรรณแล้ว ช้างยังต้องการแหล่งน้ำที่สะอาดเพื่อดื่มและพักผ่อนคลายร้อนในบางเวลา

ปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของช้างมีด้วยกัน 3 อย่าง นั่นก็คือ อาหาร แหล่งน้ำและดินโป่ง จากงานวิจัยการศึกษานิเวศวิทยาของช้างป่าและช้างเลี้ยงจากนักวิชาการหลายแห่งพบว่า ช้างเป็นสัตว์ที่มีพืชอาหารหลากหลาย โดยหลัก ๆ จะเป็นหญ้า ไม้พุ่ม ผลไม้ ยอดอ่อน รากไม้หรือแม้กระทั่งเปลือกไม้ก็พบได้เช่นกัน ตัวอย่างของพืชอาหารที่ช้างกินในธรรมชาติ เช่น หญ้า หยวกกล้วย และหน่อไม้ เป็นต้น ช้างต้องกินอาหารมากถึง 200 กิโลกรัมต่อวัน โดยใช้เวลากินโดยเฉลี่ย 16 ชั่วโมง และต้องการน้ำมากถึง 200 ลิตรต่อวัน ยกตัวอย่างงานวิจัยการใช้ประโยชน์พื้นที่และเส้นทางเคลื่อนที่ของโขลงช้างป่าบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงพบว่า ช้างมีระยะทางเคลื่อนที่ในรอบวันเฉลี่ยประมาณ 2.17 กิโลเมตรในฤดูแล้งแต่ในฤดูฝนจะอยู่ที่ประมาณ 1.78 กิโลเมตร และจะใช้พื้นที่บริเวณป่าเบญจพรรณมากกว่าป่าเต็งรังหรือพื้นที่เกษตรกรรม  ส่วนชนิดของพืชอาหารที่ช้างป่ากินในประเทศไทยจากการศึกษาวิจัยของสถานีวิจัยสัตว์ป่าภูหลวงพบว่า ช้างป่ากินพืชวงศ์ไผ่และหญ้ามากที่สุด เช่น แขม เลา ไผ่เครือวัลย์ หรือหญ้าคา รองลงมาก็พืชวงศ์กล้วยป่า ขิงข่าและกล้วยไม้

นอกจากอาหารและน้ำแล้ว ช้างยังต้องการเกลือแร่และแร่ธาตุอาหารจากดินโป่งเพื่อซ่อมแซมร่างกายส่วนที่สึกหรอเหมือนที่คนเราต้องการวิตามินด้วยเช่นกัน ซึ่งช้างสามารถใช้งาหรือขาขุดและเขี่ยดินที่มีแร่ธาตุขึ้นมา และใช้งวงหยิบดินขึ้นมากินได้เลย

elephants play in pond and dig saltlick
ช้างโขลงเล่นน้ำและช้างพลายใช้งาเจาะดินโป่งขึ้นมา, ที่มาภาพซ้าย: ไกด์ชาย, ขวา: กุลพัฒน์ ศรลัมพ์ และกลุ่มใบไม้

ความสำคัญต่อระบบนิเวศ

ช้างป่ามีความสำคัญต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมทั้งในเชิงกายภาพและชีวภาพ อย่างแรกคือช้างป่าเป็นสัตว์กินพืชขนาดใหญ่ (Mega-herbivore) ซึ่งหน้าที่หลักของสัตว์ชนิดนี้ในระบบนิเวศคือการเป็นผู้บริโภคอันดับแรก คอยควบคุมประชากรพืชอาหารไม่ให้เกินสมดุลในธรรมชาติ และอาจเป็นผู้กระจายเมล็ดพันธุ์ (Seed disperser ) หรือนักปลูกต้นไม้ให้กับพืชบางชนิดเช่น ผลของต้นหัวช้าง (Platymitra macrocarpa) พืชตระกูลเดียวกับน้อยหน่าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ที่มีอัตราการงอกได้มากถึง 37% เมื่อถูกช้างกินและขับถ่ายออกมา (McConkey et al, 2017) อาจเรียกช้างป่าตามหน้าที่ในระบบนิเวศได้ว่า ช้างเป็นสปีชีส์วิศวกร (Engineering species) ที่มีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางกายภาพของระบบนิเวศให้เหมาะสมได้อีกด้วย ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพป่าของช้างเองก็มีส่วนช่วยในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกหรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbion dioxide, CO2) ในชั้นบรรยากาศได้อีกเช่นกัน จากงานวิจัยของ Fabio Berzaghi และคณะในปี 2019 พบว่า ช้างป่าแอฟริกันในป่าดิบฝนแอฟริกาสามารถควบคุมประชากรของพืชที่โตไวจำพวกหญ้าและไม้พุ่มให้อยู่ในระดับที่ไม่แย่งสารอาหารในการเจริญเติบโตของไม้ยืนต้น ทำให้ไม้ยืนต้นมีมวลชีวภาพ (Biomass) มากกว่าซึ่งส่งผลให้ไม้ยืนต้นมีความสามารถในการเก็บกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศได้ดีกว่าป่าที่ไม่มีช้างป่าอยู่

นอกจากนี้แล้ว การมีอยู่ของช้างป่ายังเอื้อประโยชน์ให้สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในป่าด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างการขุดดินโป่งหรือการหาแหล่งน้ำของช้างนั้นให้ประโยชน์กับสัตว์ในกลุ่มกระทิง เก้งและกวาง เพราะในหลายครั้ง เก้งไม่มีพละกำลังและเขาที่แข็งแรงเหมือนงาช้างที่สามารถขุดดินโป่งขึ้นมาได้ ถ้าไม่มีช้างป่า  แหล่งแร่ธาตุอาหารของสัตว์กีบคู่ก็อาจหายากขึ้นไปด้วย ในกรณีนี้ ช้างป่าจัดเป็นสปีชีส์ค้ำจุน (Umbrella species) และสปีชีส์เสาหลัก (Keystone species) ให้กับสปีชีส์อื่น ๆ ในระบบนิเวศอีกด้วย ดังนั้น การดูแลรักษาช้างให้คงอยู่ได้ในพื้นที่ก็สามารถช่วยให้สิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ๆ คงอยู่ในระบบนิเวศด้วยเช่นกัน

 

สถานะประชากรช้างป่าเอเชีย

ตามประกาศขององค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ช้างป่าเอเชียถูกจัดให้อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) เนื่องจากประชากรของช้างป่าใน 13 ประเทศโดยรวมมีแนวโน้มลดลง จำนวนประชากรโดยประมาณอยู่ที่ 45,826-53,306 ตัว โดยประเทศที่มีจำนวนช้างป่าเอเชียมากที่สุดคือ อินเดียและศรีลังกา รองลงมาคือ ไทยและมาเลเซีย จำนวนประชากรช้างป่าโดยเฉลี่ยในแต่ละประเทศแสดงดังภาพ

ช้างป่าเอเชีย
พื้นที่และจำนวนที่พบช้างป่าในแต่ละประเทศ, ที่มาข้อมูล Williams et al, 2020

ปัญหาภัยคุกคามที่น่าเป็นห่วงของช้างป่าเอเชียคือ การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย (Habitat loss) หรือป่าถูกทำให้เป็นหย่อม ๆ (Habitat fragmentation) โดยเฉพาะในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พื้นที่ป่าลดลง 12.5% ของพื้นที่ป่าทั้งหมด ส่งผลต่ออาหาร น้ำและพื้นที่ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตช้างป่า ทำให้ช้างป่าบางส่วนต้องออกจากป่าและหาอาหารกินในพื้นที่เกษตรกรรมของมนุษย์ ทำให้ให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง (Human-Elephant Conflict: HEC) ในหลายพื้นที่ นอกจากนี้ ปัญหาการล่าช้างเพื่อเอางา เนื้อและหนัง รวมถึงการจับช้างออกจากป่าก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ประชากรช้างป่าลดลงด้วยเช่นกัน

อ้างอิง

Bergazhi, F., Longo, M., Ciais, P., Blake, S., Bretagnolle, F., Vieira, S., Scaranello, M., Scarascia-Mugnozza, G. & Doughty, C. 2019. Carbon stocks in central African forests enhanced by elephant disturbance. Nature Geoscience, 12, 725-729 (2019).
McConkey, K., Nathalang, A., Brockelman, W., Saralamba, C., Santon, J., Matmoon, U., Somnuk, R. & Srinoppawan, K. 2018. Different megafauna vary in their seed dispersal effectiveness of the megafaunal fruit Platymitra macrocarpa (Annonaceae). PLoS ONE, 13(7): e0198960.
Williams, C., Tiwari, S.K., Goswami, V.R., de Silva, S., Kumar, A., Baskaran, N., Yoganand, K. & Menon, V. 2020. Elephas maximusThe IUCN Red List of Threatened Species 2020: e.T7140A45818198. https://dx.doi.org/10.2305/IUCN.UK.2020-3.RLTS.T7140A45818198.en.
Sukumar, R. 2003. The Living Elephants: Evolutionary Ecology, Behavior and Conservation. Oxford University Press, Inc. New York, USA.
จิรชัย อาคะจักร และ วุฒินันท์ พวงสาย. 2558. การศึกษาพฤติกรรมการกินพืชอาหารของช้างฝูงและช้างโทนในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จังหวัดเลย. หน้า 401-447. ใน ผลงานวิจัย และรายงานความก้าวหน้างานวิจัย ประจำปี 2556-2558. กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. กรุงเทพฯ.
สมหญิง ทัฬหิกรณ์ และ ตะวัน สีทอง. 2554. เส้นทางการเคลื่อนที่ของโขลงช้างป่า พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง. หน้า 183-187. ใน ผลงานวิจัย และรายงานความก้าวหน้างานวิจัย ประจำปี 2553. กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. กรุงเทพฯ.
กาญจนา นาคสกุล. ลักษณนามของคำว่า ช้าง โดย ศ. ดร. กาญจนา นาคสกุล. http://www.royin.go.th