สรุปเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการ แนวทางการใช้พื้นที่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่า: คนปลอดภัย ช้างปลอดภัย

สรุปเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการ แนวทางการใช้พื้นที่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่า: คนปลอดภัย ช้างปลอดภัย
เลือกดูตามหัวข้อ แสดง

เวทีประชุมเชิงปฏิบัติการ แนวทางการใช้พื้นที่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่า

คนปลอดภัย ช้างปลอดภัย จัดขึ้นที่โรงเรียนบ้านหนองปรือกันยาง ตำบลท่าตะเกียบ อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 9-10 เมษายน 2565

 

พิธีเปิดและผู้เข้าร่วมเวที

เวทีประชุมเชิงปฏิบัติการแนวทางการใช้พื้นที่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่า: คนปลอดภัย ช้างปลอดภัยมีผู้เข้าร่วมเวทีทั้งหมด 50 คน

เวทีประชุมถูกกล่าวเปิดงานด้วย นายปัญญา วาจาดี ผู้ใหญ่บ้านบ้านหนองปรือกันยาง ตำบลท่าตะเกียบ อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา  ลำดับต่อมา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองปรือกันยางกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม ตามด้วยตัวแทนผู้อำนวยการสำนักการวิจัยแห่งชาติ และ นางสาวแสงเดือน ชัยเลิศ ประธานมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. พีระศักดิ์ ศรีนิเวศน์ รองศาสตราจารย์ ดร. ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ รองศาสตราจารย์ ดร. เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วีระพล แจ่มสวัสดิ์ นายธานินทร์ ผะเอม และนายสมบูรณ์ วงศ์กาด ร่วมกล่าวเปิดงานผ่านทาง Zoom Application และนายเผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่

นายพิเชฐ นุ่นโต เครือข่ายเสียงคนเสียงช้าง หัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาระบบเพื่อการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่าฯ และ นายตาล วรรณกูล อาสาสมัครพิทักษ์ป่าช้างป่ากลุ่มฟันน้ำนม หัวหน้าโครงการวิจัยนโยบายสาธารณะเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนฯ กล่าวแนะนำโครงการและแนะนำกิจกรรมของเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการ 2 วันนี้

กิจกรรมประเมินระดับความรุนแรงและระดับการมีส่วนร่วมในการใช้พื้นที่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่า

กิจกรรมประเมินระดับความรุนแรงและระดับการมีส่วนร่วมในการใช้พื้นที่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่า ดำเนินกิจกรรมโดย นายไพโรจน์ วิสุทธิวงศ์รัตน์ เป็นผู้นำกระบวนการ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมทราบถึงระดับปัญหาช้างป่าในพื้นที่และระดับการมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาของตนเองในเบื้องต้นก่อน

กิจกรรมเริ่มต้นโดยแจกกระดาษให้ผู้เข้าร่วมประชุมประเมินระดับความรุนแรงปัญหาช้างป่าของตนเองว่าอยู่ในระดับใดจาก 9 ระดับ โดยผู้นำกระบวนการจะอธิบายระดับความรุนแรงไปทีละระดับ จากนั้นให้ผู้เข้าร่วมระบุว่าตนเองอยู่ในระดับใดของปัญหา และนำกระดาษมาติดที่กระดาน  ลำดับต่อมา ผู้ดำเนินรายการให้ผู้เข้าร่วมประเมินต่อว่าตนเองมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาช้างป่าในพื้นที่อยู่นระดับใดจาก 9 ระดับ อธิบายในแต่ละระดับการมีส่วนร่วมและให้ผู้เข้าร่วมในกระดาษไปแปะที่กระดานอีกครั้งหนึ่ง  รายละเอียดและผลความถี่ของแต่ละระดับปัญหาและระดับการมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาแสดงในตารางที่ 1 และภาพที่ 2 และ 3

ตารางที่ 1 ระดับความรุนแรงของปัญหาระหว่างคนกับช้างป่า (ความถี่ทั้งหมด 27 คน)

ระดับความรุนแรงและการมีส่วนร่วมของปัญหาช้างป่า

กิจกรรมทำแผนที่ตำแหน่งและสถานการณ์ช้างป่าของเครือข่าย

กิจกรรมทำแผนที่ตำแหน่งและสถานการณ์ช้างป่า (Mapping) ของเครือข่าย ดำเนินรายการโดย นายตาล วรรณกูล และ นายพิเชฐ นุ่นโต มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชุมชนเล่าสถานการณ์ปัญหาช้างป่า จำนวนช้างที่พบ และผลกระทบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของตนเอง และเพื่อให้ผู้วิจัยได้ทราบถึงตำแหน่งและสถานการณ์ช้างป่าในพื้นที่ชุมชนด้วยเช่นกัน

ขั้นตอนการดำเนินการ วิทยาการเริ่มกิจกรรมโดยแนะนำให้ผู้เข้าร่วมเห็นแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศและขอบเขตพื้นที่อนุรักษ์ของกลุ่มป่าตะวันออก จากนั้นวิทยากรก็แบ่งกลุ่มหมู่บ้านที่อยู่ใกล้กันออกเป็นทั้งหมด 5 กลุ่ม พร้อมกับแจกกระดาษปรู๊ฟและปากกาเคมีสำหรับวาดแผนที่ทำมือแสดงที่อยู่ของคน ตำแหน่งหมู่บ้าน สถานการณ์และผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า ซึ่งรวมถึงข้อมูลจำนวนตัวของช้าง พืชผลที่ได้รับความเสียหาย และวิธีการจัดการปัญหาของชุมชนไว้ด้วย  ท้ายสุดก็ให้แต่ละกลุ่มออกมานำเสนอสถานการณ์ปัญหาช้างป่าที่ด้านหน้าเวที

ผลการดำเนินกิจกรรม ทั้ง  5 กลุ่มสามารถวาดแผนที่ทำมือและรายงานสถานการณ์ช้างป่าในพื้นที่ของตนเองได้ ทางผู้วิจัยก็ได้รับข้อมูลจากชุมชนที่นำเสนอและสรุปข้อมูลออกมาได้ดังตารางที่ 2

ตารางที่ 2 ตำแหน่งและสถานการณ์ช้างป่าของเครือข่าย

สถานการณ์ช้างป่าตะวันออก

กิจกรรมความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนและหน่วยงาน

กิจกรรมความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนและหน่วยงานจัดขึ้นเพื่อให้ชุมชนเครือข่ายได้แสดงความเห็นและสะท้อนถึงระดับการมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาช้างป่าของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ฝ่ายปกครองและเอกชน โดยมีนายไพโรจน์ วิสุทธิวงศ์รัตน์ และนางสาวสุกัญญา เศษขุนทดเป็นผู้ดำเนินรายการ

ขั้นตอนกระบวนการเริ่มต้นจากการให้กลุ่มหมู่บ้าน 5 กลุ่ม เขียนรายชื่อหน่วยงานหรือภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการปัญหาช้างป่าลงในกระดาษให้ครบเท่าที่นึกออก จากนั้นให้คนในกลุ่มลงคะแนนการมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่ได้เขียนมาจากระดับคน 1 (ไม่มีส่วนร่วมเลย) – 5 (มีส่วนร่วมมากที่สุด) จากนั้นนำใบที่ลงคะแนนดังกล่าวมารวบรวมและเขียนสรุปขึ้นบนกระดาน

ลำดับต่อมา วิทยากรณ์ 2 ท่านและนางสาวจิราภรณ์ เทียมพันธ์พงศ์ ผู้ดำเนินกิจกรรมอีกท่านถามต่อในเวทีว่า “ปัญหาช้างนี้จะทำอย่างไรให้มันดีขึ้นกว่านี้ได้บ้าง” โดยไล่ถามความคิดเห็นตามความสมัครใจของผู้เข้าร่วมงานให้ได้แสดงความคิดเห็นอย่างน้อยคนละ 1 ครั้ง โดยมีความคาดหวังต่อกิจกรรมนี้ให้เป็นการเปลี่ยนเสียงบ่นเป็นเสียงบอก จากนั้นผู้ดำเนินรายการก็สรุปความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมกิจกรรมออกมาและสรุปเป็น 5 กลุ่มย่อย แล้วก็ให้ผู้เข้าร่วมลงคะแนนโดยใช้สติ๊กเกอร์แปะหัวข้อที่ตนเองต้องการให้เกิดความเปลี่ยนแปลงโดยเร็วที่สุด 3 อันดับ ความคิดเห็นบางส่วนและการลงคะแนนเลือกหัวข้อการดำเนินงานที่ต้องการแสดงในภาพที่ 7

 

ผลของการเลือกหัวข้อที่ต้องการให้มีการดำเนินงานอย่างเร็วที่สุดแสดงในตารางที่ 3 ข้อมูลระบุว่า ผู้เข้าร่วมเห็นว่าหัวข้อการจัดการช้างป่าที่ควรทำเป็นลำดับแรกสุดคือ “อาสาสมัครมีสวัสดิการจากรัฐ” ส่วนการจัดการที่ควรเป็นอันดับต่อมาคือ “การแก้ไขระเบียบเรื่องการชดใช้” และ “การระดมทุนเพื่อการจัดการปัญหาช้างป่า”

ตารางที่ 3 ผลการเลือกการจัดการปัญหาช้างป่าของผู้เข้าร่วมเวทีความต้องการของชุมชนในการให้หน่วยงานจัดการปัญหาช้างป่า

ขั้นสุดท้าย นายพิเชฐ นุ่นโต ส่งคำถามให้กับเวทีว่า “ตัวเราจะทำอะไรได้ดีกว่านี้” โดยแจกกระดาษให้ผู้เข้าร่วมเขียนสิ่งที่ตนเองคิดว่าตัวเองจะสามารถทำอะไรให้ปัญหาช้างดีขึ้นได้บ้าง หลังจากนั้นก็นำกระดาษมาแปะที่กระดานและทำการสรุปข้อมูลออกมาตัวเราจะทำอะไรได้ดีกว่านี้

อบรมเชิงปฏิบัติการแอปพลิเคชั่น iNaturalist

การอบรมเชิงปฏิบัติการแอปพลิเคชั่น iNaturalist จัดโดย Nature Plearn Club โดยมี นายอุเทน ภุมรินทร์ และ นายปกรณ์ คมขำ เป็นวิทยากร เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนมีการใช้เทคโนโลยีในการเก็บข้อมูลการพบช้างป่านอกพื้นที่อนุรักษ์ภาคพลเมือง

นักวิจัยชุมชนนำสำรวจช้างป่าช่วงค่ำ วันที่ 9 เมษายน 2565 และช่วงบ่ายวันที่ 10 เมษายน 2565

นายตาล วรรณกูล และอาสาสมัครเฝ้าระวังช้างป่าทีมฟันน้ำนมพาผู้วิจัยออกสำรวจร่องรอยช้างป่าบริเวณบ้านหนองปรือกันยาง ตำบลท่าตะเกียบ อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา ในช่วง 20:00-21:30 น. ของวันเสาร์ที่ 9 เมษายน 2565 โดยใช้รถกระบะหนึ่งคัน พบแค่เพียงรอยตีนช้างหนึ่งจุดบริเวณป่าปาล์มใหญ่ ไม่พบเห็นตัวช้างโดยตรงในการสำรวจรอบนี้

อาสาสมัครเฝ้าระวังช้างป่าทีมฟันน้ำนมและอาสาสมัครเฝ้าระวังช้างป่าคลองมะหาด และบ้านวังหินพาผู้วิจัยบางส่วนสำรวจร่องรอยช้างป่าในเวลา 13:30-15:30 น. ของวันอาทิตย์ที่ 10 เมษายน 2565 บริเวณแนวรั้วกึ่งถาวรกันช้างป่าและรอบหมู่บ้านอีกครั้ง พบแต่เพียงร่องรอยช้างป่าไม่พบเห็นตัวโดยตรงอีกเช่นกัน

กิจกรรมประเมินค่าใช้จ่ายในการเฝ้าระวังช้างป่า

กิจกรรมประเมินค่าใช้จ่ายในการเฝ้าระวังช้างป่าจัดขึ้นเพื่อให้เครือข่ายได้ประเมินว่าค่าใช้จ่ายสำหรับการตั้งกลุ่มเฝ้าระวังช้างป่าต่อ 1 ชุมชนนั้นมีค่าประมาณเท่าไร เพื่อให้รู้ต้นทุนของการดำเนิน กิจกรรมนี้มีกระบวนการโดยให้วิทยากรนำกระบวนการโดยตั้งคำถามว่าในการเฝ้าระวังช้างหนึ่งคืนนั้นมีค่าใช้จ่ายอะไรเกิดขึ้นโดยโยนคำถามให้กับเวทีใหญ่

ความเห็นและประสบการณ์ของผู้เข้าร่วมเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการเฝ้าระวังช้างป่าระบุว่า โดยทั่วไปแล้ว ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นสำหรับการเฝ้าระวังช้างป่าใน 1 คืนตกที่คนละ 150 บาท หากชุดเฝ้าระวังมีทั้งหมด 5 คนจะมีค่าใช้จ่ายประจำวันเบื้องต้น 800 บาทไม่รวมค่าปะทัดปิงปองสำหรับผลักดันช้างป่า นอกจากนี้ หากคิดต่อว่าถ้าจะมีคนหนึ่งคนมาสร้างชุดเฝ้าระวังช้างป่าให้ชุมชนหนึ่ง ต้องมีการลงทุนอย่างน้อยคนละ 9,000 บาท ทั้งชุด 5 คนก็จะเป็น 45,000 บาท  กิจกรรมนี้จึงสรุปตรงที่ว่าได้ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นสำหรับหาแนวทางการจัดการชุดเฝ้าระวังช้างป่าต่อไปในอนาคต

กิจกรรมร่างแผนการศึกษาพฤติกรรมและรู้จักช้างป่า

เนื่องจากความต้องการของผู้เข้าร่วมกิจกรรมระบุว่าต้องการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับช้างป่า ทำให้มีการเปลี่ยนกำหนดการและกิจกรรมจากเดิมมาเป็นการร่างแผนการศึกษาพฤติกรรมและรู้จักช้างป่า เพื่อให้ชุมชนได้วางแผนการศึกษาพฤติกรรมช้างป่าตามความสนใจของตน โดยชุมชนระบุว่าอยากทราบถึงรูปแบบและเส้นทางการเคลื่อนที่ของช้างป่า พฤติกรรม จุดพัก จุดกิน แหล่งน้ำ ปัจจัยส่งเสริมพฤติกรรมต่าง ๆ และการจำแนกรูปพรรณช้างป่าเพื่อใช้ระบุตัวตน โดยภาพรวมแล้ว กิจกรรมทำให้ผู้วิจัยทราบว่าชุมชนมีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับช้างป่าค่อนข้างมาก รู้ว่าพฤติกรรมแบบใดของช้างที่เข้าใกล้ได้หรือควรมีวิธีการผลักดันอย่างไร แต่สิ่งที่ขาดก็คือการนำความรู้เหล่านี้ไปสู่การจัดการปัญหาช้างภายในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งความต้องการที่จะศึกษาข้อมูลส่วนนี้จะนำไปใช้ต่อในแผนงาน (Action plan) ในกิจกรรมถัดไป

กิจกรรมร่างแผนการจัดการช้างป่าโดยอาสาสมัครชุมชน

เวทีได้ร่างแนวทางของแผนการจัดการช้างป่าโดยอาสาสมัครชุมชนโดยให้เครือข่ายได้บอกรายละเอียดขององค์ประกอบที่แผนควรจะมีดังภาพที่ 16 โดยแผนนี้มีเป้าหมายเพื่อให้เครือข่ายเฝ้าระวังช้างป่ามีความสามารถในการเฝ้าระวังช้างป่าได้อย่างปลอดภัย มีวิถีปรับตัวเพื่อลดความรุนแรงระหว่างคนกับช้างป่า เพิ่มการมีส่วนร่วมระหว่างหน่วยงานและชุมชนเพื่อการใช้พื้นที่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างอย่างปลอดภัย ตัวกิจกรรมของแผนที่ร่างไว้จะมีการเก็บข้อมูลสถานการณ์และผลกระทบจากช้าง มีการวิเคราะห์ข้อมูล สรุปและนำเสนอข้อมูล ส่วนการบริหารจัดการกลุ่มนั้นจะเป็นขั้นตอนต่อไปของเครือข่ายว่าจะบริหารจัดการอย่างไรในอนาคต

สรุปกิจกรรม

เวทีประชุมเชิงปฏิบัติการแนวทางการใช้พื้นที่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่า: คนปลอดภัย ช้างปลอดภัยจัดขึ้นเพื่อรวมกลุ่มเครือข่ายชุมชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหาช้างป่าในพื้นที่ป่าตะวันออกมาหารือ เล่าสู่กันฟังถึงสถานการณ์ช้างป่า ประสบการณ์และความรู้จากพื้นที่ของตนเอง  สิ่งที่ได้จากเวทีนี้คือการประสานงานระหว่างเครือข่ายชุมชนในพื้นที่ป่าตะวันออก และได้สร้างกลุ่มใน Facebook ชื่อ “ช้าง(ตะวัน)ออกบอกด้วย” โดยให้อาสาสมัครเฝ้าระวังช้างป่าชุมชนทีมฟันน้ำนมเป็นผู้บริหารจัดการกลุ่ม เพื่อสื่อสารและแจ้งข่าวเกี่ยวกับการดำเนินงานของเครือข่ายและการเคลื่อนที่ของช้างป่าโดยรอบ

ข้อมูลและความคิดเห็นที่ได้จากเวทีนี้จะนำไปใช้สำหรับการจัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการเวทีต่อไปที่จะเชิญหน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาช้างป่าเข้ามาร่วมด้วย เพื่อมารับฟังและตัดสินใจในเรื่องการจัดการร่วม (Co-management) ระหว่างเครือข่ายชุมชนและภาครัฐต่อไป


ติดตามข่าวสารเสียงคน เสียงช้างได้ที่นี่
Facebook: Human Elephant Voices – Home | Facebook