กิจกรรม แลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียนกลุ่มเฝ้าระวังช้างป่า จากทีมวิจัย 3 พื้นที่ (ใต้ร่มเย็น, ภูหลวง และเขาใหญ่) ระหว่างวันที่ 25-27 กันยายน 2563 ที่อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา เนื้อหากิจกรรมแบ่งตามวันมีรายละเอียด ดังนี้
วันที่ 25 กันยายน 2563
ทีมวิจัยท้องถิ่นภูหลวงร่วมกับสถานีวิจัยสัตว์ป่าภูหลวงเดินทางมาถึงบ้านคลองทราย ตำบลวังน้ำเขียว อำเภอวังน้ำเขียว และร่วมเรียนรู้ระบบลาดตระเวนเฝ้าระวังช้างป่าของ ทีมวิจัยท้องถิ่นวังน้ำเขียว มูลนิธิฟรีแลนด์และกลุ่มเฝ้าระวังช้างป่าบ้านคลองทราย
วันที่ 26 กันยายน 2563
ทีมวิจัยท้องถิ่นภูหลวงไปทัศนศึกษาที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เพื่อศึกษาการจัดการระบบนิเวศทุ่งหญ้าและป่าดิบชื้นของอุทยาน การจัดสถานที่ของน้ำตกเหวนรก และเรียนรู้ถิ่นที่อยู่อาศัยของช้างป่าในธรรมชาติเพื่อเสริมกระบวนการคิดให้กับทีมวิจัยและทีมเฝ้าระวัง
ส่วนทีมวิจัยท้องถิ่นใต้ร่มเย็นได้ไปทัศนศึกษาในพื้นที่เกษตรสวนมัลเบอร์รี่แม่หม่อนและสวนลุงโชคที่เน้นการปลูกไผ่เพื่อการใช้ประโยชน์และแปรรูป อำเภอวังน้ำเขียวเพื่อเรียนรู้กระบวนการปรับเปลี่ยนพืชเกษตรให้เป็นแนวทางในการปรับตัวที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้าง
ในช่วงบ่าย ทีมวิจัยท้องถิ่นจาก 3 พื้นที่และทีมกลางได้มารวมตัวกันจัดกิจกรรม แลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียนกลุ่มเฝ้าระวังช้างป่า ของทีมวิจัยท้องถิ่นใต้ร่มเย็นและภูหลวง โดยจัดประชุมที่บ้านคลองปลากั้ง และอาคารสำนักงานบริเวณจุดสกัดเขาสูงของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า*ตำบลวังน้ำเขียว อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
ทีมวิจัยท้องถิ่นใต้ร่มเย็นได้เล่าถึงการวิจัยระบบผลักดันและควบคุมทิศทางของช้างป่าด้วยไฟส่องสว่างในระบบนิเวศพืชสวนของทางภาคใต้ และทีมวิจัยยังได้เล่าถึงกระบวนการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมาว่ามีความเปลี่ยนแปลงต่อทั้งคนและช้างป่าอย่างไรบ้างในพื้นที่ ส่วนทีมวิจัยท้องถิ่นภูหลวงได้เล่าถึงกระบวนการรับฟังปัญหาและจัดเก็บข้อมูลผลกระทบจากช้างป่าของชุมชนที่นำไปสู่การจัดเวทีประชุมและประสานงานกับภาครัฐเพื่อหาแนวทางการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่าและจัดตั้งเครือข่ายอาสาเฝ้าระวังช้างป่า นอกจากนี้ ทีมวิจัยภูหลวงยังได้จัดการอบรมเพื่อการสร้างระบบการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่า ระดมทุนเพื่อจัดตั้งกองทุนเพื่ออาสาเฝ้าระวังช้างป่าภูหลวง และการส่งเสริมอาชีพทางเลือก เช่น การใช้รั้วรังผึ้ง การปลูกผักหวาน และการย้อมสีผ้าจากมูลช้าง ในช่วงท้าย ทีมวิจัยกลางก็ได้สรุปสะท้อนกระบวนการและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากทั้ง 2 พื้นที่ รวมทั้งแนะแนวทางในการนำเสนอรายงานความก้าวหน้าเพื่อปรับใช้ในอนาคต
หลังจากการถอดบทเรียน ทีมวิจัยท้องถิ่นทั้ง 3 พื้นที่ก็ได้ออกลาดตระเวนและเฝ้าระวังช้างป่าร่วมกันบริเวณบ้านคลองทราย ทำให้ทั้ง 3 พื้นที่ได้เห็นรูปแบบการเฝ้าระวังที่แตกต่างกัน ได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนแนวทางการผลักดันช้างป่าที่สามารถนำไปสู่การอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่าอย่างสันติ
วันที่ 27 กันยายน 2563
ทีมวิจัยท้องถิ่นภูหลวง ใต้ร่มเย็นและเขาใหญ่ร่วมกันออกไปดูกระทิงที่จุดสกัดเขาสูง เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้าในช่วงเช้ามืด จากนั้นก็ได้พูดคุยสรุปการดูงานระหว่าง 3 พื้นที่ แลกของที่ระลึกและเดินทางกลับภูมิลำเนา
*ขอขอบคุณ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้าที่อนุเคราะห์สถานที่เพื่อใช้ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างทีมวิจัยฯ
Elephant repellent patrolling unit experience sharing from three human-elephant coexistence community-based research teams (Tai Rom yen, Khao Yai and Phu Luang) at Wang Nam Khieo District, Nakorn Ratchasima Province during 25 – 27 September 2020.
Three human-elephant coexistence community-based research teams have arranged the meeting and field excursion at Wang Nam Khieo District, Nakorn Ratchasima Province during 25 – 27 September 2020. The main objectives of this event were to exchange the experience and knowledge of elephant repellent patrolling units, field learning among three teams: Tai Rom Yen, Khao Yai and Phu Luang. In addition, alternative crop farming such as mulberry and bamboo farms were demonstrated to the participants. This will give the new perspective for farmers who want to change their agricultural lifestyle. Thus, it also provides reliable additional income and marketing.
In summary, all teams will apply the experiences from this event to create the human-elephant coexistence in their areas.
ติดตามข่าวสารเสียงคน เสียงช้างได้ที่นี่
For more news and detail on Human-Elephant Voices, please visit here
Facebook: humanelephantvoices