กิจกรรมพื้นที่วิจัยทองผาภูมิ: มิถุนายน 2563

กิจกรรมพื้นที่วิจัยทองผาภูมิ: มิถุนายน 2563

For English version, please read the message below.

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2563  ทีมวิจัยท้องถิ่นพื้นที่ทองผาภูมิ (ทีมวิจัยฯ)โครงการศึกษาและพัฒนาระบบการผลิต แปรรูป และตลาดพืชท้องถิ่นแบบครบวงจร เพื่อลดผลกระทบจากช้างป่า ต.ห้วยเขย่ง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี(สกสว.) ร่วมกับ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ และมูลนิธิพิทักษ์คชสาร ได้จัดประชุมประจำเดือนตามแผนการดำเนินงาน ณ วัดเวฬุวัน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี  การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1. เพื่อติดตามสถานการณ์ช้างป่าทองผาภูมิ 2. เพื่อหาแนวทางการดำเนินงานร่วมกันระหว่างทีมวิจัยฯ กับ มูลนิธิพิทักษ์คชสาร  มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 25 คน ได้ข้อสรุปการประชุม ดังนี้

สถานการณ์ช้างป่า: มูลนิธิพิทักษ์คชสาร นำโดย นายปฐม แหนกลาง ได้ดำเนินงานติดตามพฤติกรรมช้างป่าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพบว่าขณะนี้ช้างป่าโขลงใหญ่ประมาณ 30-40 ตัว อยู่อาศัยบริเวณพุปู ไร่ลุงปาน แปลงปลูกพืชปี 28 และ 30 รวมถึงบริเวณชายขอบหมู่บ้านท่ามะเดื่อ (หมู่ที่ 1) ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลทางกลุ่มสลาตัน (กลุ่มอาสาสมัครเฝ้าระวังช้างป่าตำบลห้วยเขย่งร่วมเป็นทีมวิจัยท้องถิ่น) และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิที่ได้รับแจ้งจากชาวบ้านหมู่ที่ 1 และได้ทำการผลักดันช้างป่าออกจากไร่มันสำปะหลัง เป็นจำนวน 2 ครั้ง โดยวิธีการใช้เสียง แสงไฟ และการจุดปะทัด  ช้างป่าจะเข้ามาในพื้นที่เกษตรกรรมช่วงเวลา 20.00-23.00 น.  พืชไร่ที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่เป็นมันสำปะหลัง

การดำเนินงานร่วมกันระหว่างทีมวิจัยฯ กับ มูลนิธิพิทักษ์คชสาร

ทีมวิจัยฯ: ทีมวิจัยฯ โครงการศึกษาและพัฒนาระบบการผลิต แปรรูป และตลาดพืชท้องถิ่นแบบครบวงจร เพื่อลดผลกระทบจากช้างป่า ต.ห้วยเขย่ง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ได้กล่าวรายงานผลการดำเนินงานกับที่ประชุมในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา โดยทางทีมวิจัยฯ มีการเก็บข้อมูลช้างป่าร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ และกลุ่มสลาตัน รวมทั้งการเก็บข้อมูลพืชท้องถิ่นที่ช้างป่าไม่ทำลายหรือเหยียบย่ำ  ผลผลสำรวจพบว่ามีพืชจำนวน 20 ชนิดที่ไม่ถูกช้างทำลาย เช่น ขมิ้นชัน พริกไท กาแฟ เป็นต้น และทางทีมวิจัยฯ ได้ดำเนินการทดลองแปรรูปพืชเกษตรเป็นผลิตภัณฑ์ขมิ้นแคปซูล โดยจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน “มิตรช้างป่าห้วยเขย่ง” และจะทดลองเปิดตลาดภายในเดือนนี้  การดำเนินกิจกรรมแปรรูปมุ่งเน้นการส่งเสริมศักยภาพให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่าเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ โดยงานวิจัยฯ จะสนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์ และองค์ความรู้ทางด้านการผลิตและแปรรูปให้กับเกษตรกร ส่วนช่องทางการตลาดเป็นการทดลองร่วมกัน

มูลนิธิพิทักษ์คชสาร: เข้าใจแนวทางของทีมวิจัยฯ และเสนอมุมมองในการทำเกษตรอินทรีย์ โดยเน้นประเด็นสำคัญไปที่การทำให้แหล่งน้ำในพื้นที่สะอาด (หลวงปู่สาครแนะนำให้มีการตรวจคุณภาพน้ำและดินพร้อมการวัดค่าสารปนเปื้อน) ซึ่งแหล่งน้ำเหล่านี้จะเกิดประโยชน์ต่อการทำเกษตรของชาวบ้านและช้างป่าในเวลาเดียวกัน โดยปัจจุบันทางมูลนิธิพิทักษ์คชสารได้ขุดบ่อน้ำในเขตป่าไปแล้ว 10 บ่อ เพื่อให้เกิดการกักเก็บน้ำตามธรรมชาติให้ช้างป่า และไว้ทำการเกษตรเมื่อเข้าฤดูแล้ง  ส่วนด้านพืชอาหารช้างป่า ทางมูลนิธิพิทักษ์คชสารเสนอให้ปลูกไผ่ร่วมด้วยในพื้นที่เกษตรกรรมที่ได้รับผลกระทบ (ปลูกไผ่แบบไม่ตัดหน่อ) เพราะเห็นว่าเป็นพืชท้องถิ่น ซึ่งง่ายต่อการปรับตัวในสภาพพื้นที่  ที่สำคัญใบไผ่เป็นอาหารโปรดของช้างป่าและคนก็สามารถใช้ลำไผ่ จึงไม่มีผลจากเรื่องผลผลิตเสียหาย และยังเป็นแนวทางการรักษาเอกลักษณ์ เพราะมูลนิธิพิทักษ์คชสาร เห็นว่าสามารถนำร่องการส่งเสริมผลิตภัณฑ์จักรสานและการบ้านเรือนเพื่อคงซึ่งวิถีเดิมไว้ ประกอบกับปัจจุบันไผ่เป็นที่ต้องการในตลาดมากขึ้น เนื่องจากการออกแบบในปัจจุบันได้ปรับตนเองให้สอดคล้องกับธรรมชาติ  การดำเนินงานร่วมกัน ควรต้องกำหนดกรอบแนวทางและแผนงานที่มีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจนเพื่อลดความทับซ้อนของการดำเนินงาน

ศูนย์วิจัยการอยู่ร่วมกับช้างป่า จังหวัดเพชรบุรี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช: เสนอมุมมองการแก้ปัญหาอย่างรอบด้าน ในเรื่องของการขุดบ่อน้ำ (มูลนิธิพิทักษ์คชสาร) มีข้อแนะนำว่าหากจะแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้จำเป็นต้องคำนวณระยะการเดินทางหากินของช้างให้เหมาะสม เนื่องจากหากมีการขุดบ่อในพื้นที่ที่ใกล้เขตชุมชนมากเกินไป จะทำให้ช้างป่าเข้ามาอาศัยอยู่ใกล้เขตชุมชนและได้รับกลิ่นของผลผลิตทางการเกษตรของชาวบ้าน ทำให้ยิ่งเกิดปัญหาตามมาภายหลัง (ศึกษาจากกรณีการแก้ปัญหาคนกับช้างป่าที่กุยบุรี จ. ประจวบฯ) ดังนั้น แนวทางการดำเนินงานร่วมกันควรมีการกำหนดเป้าหมาย และกรอบการดำเนินงานให้มีความชัดเจน

ข้อเสนอแนวทางการทำดำเนินงานร่วมกันระหว่างทีมวิจัยฯ และมูลนิธิพิทักษ์คชสาร

  1. การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมร่วมกันครั้งแรกระหว่างมูลนิธิพิทักษ์คชสาร และทีมวิจัยฯ โดยมีการนำเสนอและแลกเปลี่ยนข้อมูลการทำงานซึ่งกันและกัน นับเป็นเรื่องที่ดีและควรมีการประชุมร่วมกันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกันประจำทุกเดือนโดยเฉพาะข้อมูลพฤติกรรมช้างป่า
  2. ทั้งสองกลุ่มมีความคิดเห็นที่ตรงกันในเรื่องของการสร้างอาชีพทางเลือกให้กับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า
  3. การประชุมครั้งต่อไปควรมีการกำหนดเป้าหมายการดำเนินงาน รวมทั้งแผนงานที่มีผู้รับผิดชอบร่วมกันอีกครั้ง

21 June 2020, at Weluwan Temple, Thong Pha Phum District, Kanchanaburi Province

Thong Pha Phum Community Research Team (THECx/TSRI) together with Seub Foundation and Thong Pha Phum National Park (TPPNP) has set up a meeting to talk with Pitak Kotchasan Foundation (Pitak Kotchasan means Elephant Guardian) which is a local NGO for elephant conservation in Thong Pha Phum District. This meeting aims to share activities, elephant data collections, and finding some similar objectives for possibly working together. 

The Community Research Team has learned Pitak Kotchasan Foundation’s works: recent elephant distribution data which corresponded with Sa-Lhatan Group (village-volunteered elephant response units) and artificial water holes in the forest. We agreed to share particular data on elephant distributions in each month. We also concurred to support coexistence livelihood between humans and elephants. Additionally, elephant conservation and coexistence activities will be planned in the next meeting.

Human-Elephant Coexistence Research Center, Phetchaburi Province, Department of National Park, Wildlife and Plant Conservation, suggested that artificial water holes which were created by Pitak Kotchasan Foundation, should be aware of their effects. Water holes located close to villages might attract wild elephants and could cause more crop-raiding events. Thereby, further management should be carefully planned to avoid negative impacts.

In summary, this has been the first meeting between the Community Research Team and Pitak Kotchasan Foundation which paved the way for working together via elephant data sharing once a month and co-management in the near future. We also have agreed on creating an alternative income for villagers who faced elephant impacts.