ความสำคัญต่อระบบนิเวศ
ความสำคัญต่อระบบนิเวศ
ช้างป่ามีความสำคัญต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมทั้งในเชิงกายภาพและชีวภาพ อย่างแรกคือช้างป่าเป็นสัตว์กินพืชขนาดใหญ่ (Mega-herbivore) ซึ่งหน้าที่หลักของสัตว์ชนิดนี้ในระบบนิเวศคือการเป็นผู้บริโภคอันดับแรก คอยควบคุมประชากรพืชอาหารไม่ให้เกินสมดุลในธรรมชาติ และอาจเป็นผู้กระจายเมล็ดพันธุ์ (Seed disperser ) หรือนักปลูกต้นไม้ให้กับพืชบางชนิดเช่น ผลของต้นหัวช้าง (Platymitra macrocarpa) พืชตระกูลเดียวกับน้อยหน่าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ที่มีอัตราการงอกได้มากถึง 37% เมื่อถูกช้างกินและขับถ่ายออกมา (McConkey et al, 2017) อาจเรียกช้างป่าตามหน้าที่ในระบบนิเวศได้ว่า ช้างเป็นสปีชีส์วิศวกร (Engineering species) ที่มีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางกายภาพของระบบนิเวศให้เหมาะสมได้อีกด้วย ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพป่าของช้างเองก็มีส่วนช่วยในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกหรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbion dioxide, CO2) ในชั้นบรรยากาศได้อีกเช่นกัน จากงานวิจัยของ Fabio Berzaghi และคณะในปี 2019 พบว่า ช้างป่าแอฟริกันในป่าดิบฝนแอฟริกาสามารถควบคุมประชากรของพืชที่โตไวจำพวกหญ้าและไม้พุ่มให้อยู่ในระดับที่ไม่แย่งสารอาหารในการเจริญเติบโตของไม้ยืนต้น ทำให้ไม้ยืนต้นมีมวลชีวภาพ (Biomass) มากกว่าซึ่งส่งผลให้ไม้ยืนต้นมีความสามารถในการเก็บกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศได้ดีกว่าป่าที่ไม่มีช้างป่าอยู่
นอกจากนี้แล้ว การมีอยู่ของช้างป่ายังเอื้อประโยชน์ให้สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในป่าด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างการขุดดินโป่งหรือการหาแหล่งน้ำของช้างนั้นให้ประโยชน์กับสัตว์ในกลุ่มกระทิง เก้งและกวาง เพราะในหลายครั้ง เก้งไม่มีพละกำลังและเขาที่แข็งแรงเหมือนงาช้างที่สามารถขุดดินโป่งขึ้นมาได้ ถ้าไม่มีช้างป่า แหล่งแร่ธาตุอาหารของสัตว์กีบคู่ก็อาจหายากขึ้นไปด้วย ในกรณีนี้ ช้างป่าจัดเป็นสปีชีส์ค้ำจุน (Umbrella species) และสปีชีส์เสาหลัก (Keystone species) ให้กับสปีชีส์อื่น ๆ ในระบบนิเวศอีกด้วย ดังนั้น การดูแลรักษาช้างให้คงอยู่ได้ในพื้นที่ก็สามารถช่วยให้สิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ๆ คงอยู่ในระบบนิเวศด้วยเช่นกัน
อ้างอิง
Bergazhi, F., Longo, M., Ciais, P., Blake, S., Bretagnolle, F., Vieira, S., Scaranello, M., Scarascia-Mugnozza, G. & Doughty, C. 2019. Carbon stocks in central African forests enhanced by elephant disturbance. Nature Geoscience, 12, 725-729 (2019).
McConkey, K., Nathalang, A., Brockelman, W., Saralamba, C., Santon, J., Matmoon, U., Somnuk, R. & Srinoppawan, K. 2018. Different megafauna vary in their seed dispersal effectiveness of the megafaunal fruit Platymitra macrocarpa (Annonaceae). PLoS ONE, 13(7): e0198960.