ครอบครัวช้างป่า

Home / ครอบครัวช้างป่า

ครอบครัวช้างป่า

ช้างป่าเป็นสัตว์สังคม อยู่รวมกันเป็นฝูง เราเรียกว่า “โขลง” ซึ่งในโขลงนี้จะประกอบด้วยช้างผู้นำที่เป็นช้างตัวเมีย ตัวใหญ่ที่สุด มีอายุเยอะพร้อมกับประสบการณ์ในการนำทางและดูแลฝูงมากที่สุด เราเรียกช้างผู้นำนี้ว่า “จ่าโขลง” หรือ “แม่แปรก (อ่านว่า แม่-ปะ-แหรก)” และช้างตัวเมียที่อาจจะเป็นน้อง ลูกหรือหลานของช้างแม่แปรกในแต่ละโขลง และช้างตัวผู้ที่ยังไม่โตเต็มวัย  แต่เมื่อช้างตัวผู้โตเต็มวัยแล้ว มันจะถูกช้างตัวเมียขับออกจากฝูงให้ออกไปหากินเองหรือไปรวมกลุ่มกับช้างตัวผู้วัยรุ่นตัวอื่น ๆ วิธีนี้เป็นการป้องกันการผสมพันธุ์ระหว่างเครือญาติของช้างป่า ทำให้ช้างป่ามีพันธุกรรมที่หลากหลายหรือทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้มากขึ้น

ประเทศไทยมีศัพท์เรียกช้างแบ่งตามเพศและลักษณะของช้างด้วย เราเรียกช้างตัวเมียว่า “ช้างพัง” เช่น พังชบาแก้ว  ช้างตัวผู้ที่มีงา เราจะเรียกว่า “ช้างพลาย” เช่น พลายทองผาภูมิ ส่วนช้างตัวผู้ที่ไม่มีงา เราก็จะเรียกว่า “ช้างสีดอ หรือ สีดอ” เช่น สีดอแดงในป่าจังหวัดฉะเชิงเทรา  อีกข้อที่น่าสนใจก็คือลักษณะนามของช้าง นอกจากเรานับจำนวนช้างฝูงว่าโขลงแล้ว เรานับจำนวนช้างแต่ละตัวโดยใช้ลักษณะนามของช้างป่าเป็น “ตัว” แต่ถ้าเป็นช้างเลี้ยง เราจะนับว่า “ช้าง 1 เชือก” และหากนำช้างมาขึ้นระวางคือนำมาเข้าทำเนียบหรือเข้าประจำการ ลักษณนามของช้างขึ้นระวางจะใช้คำว่า “ช้าง”

 

อ้างอิง
Sukumar, R. 2003. The Living Elephants: Evolutionary Ecology, Behavior and Conservation. Oxford University Press, Inc. New York, USA.
ลักษณนามของคำว่า ช้าง โดย ศ. ดร. กาญจนา นาคสกุล. http://www.royin.go.th