สถิติคนกับช้างบาดเจ็บและเสียชีวิต พ.ศ. 2564
Thailand Human-Elephant Conflict Situation 2021 Updates
เครือข่ายเสียงคนเสียงช้างรวบรวมเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและการบาดเจ็บของทั้งคนและช้าง และจัดทำ สถิติคนกับช้างบาดเจ็บและเสียชีวิต พ.ศ. 2564 ผ่านการค้นหาด้วย Google Search และข้อมูลจากแหล่งข่าวออนไลน์ภายในปี พ.ศ. 2564
ผลการค้นหาพบว่า ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2564 ถึงวันนี้ (26 ธันวาคม 2564) มีเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าที่ทำให้มีช้างและคนบาดเจ็บและเสียชีวิตถึง 32 เหตุการณ์ โดยแบ่งเป็นช้างล้ม 9 ตัว ช้างบาดเจ็บ 6 ตัว คนเสียชีวิต 17 คน และคนบาดเจ็บ 6 คน ช่วงเดือนที่มีความเสียหายเกิดขึ้นบ่อยที่สุด คือ เดือนพฤศจิกายน รองลงมาคือเดือนมกราคม และเดือนธันวาคม ซึ่งตรงกับช่วงฤดูหนาวของประเทศไทย และพร้อมกันกับช่วงที่พืชเกษตรกลุ่มข้าว มันสำปะหลังและข้าวโพดกำลังเก็บเกี่ยวพอดี
ปี 2564 ช้างป่าล้มไปทั้งหมด 9 ตัว โดยมีสาเหตุมาจากการโดนยิง 3 ตัว รองลงมาคือ ถูกไฟช็อต 3 ตัว โดยแบ่งเป็นถูกกระแสไฟบ้าน 220 โวลต์ช็อต 2 ตัว และอีก 1 ตัวถูกไฟช็อตหลังจากการล้มเสาไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังมีลูกช้างล้มจากการถูกรถชน 1 ตัว คาดว่าจะได้รับสารพิษจากพืชอาหารล้ม 1 ตัว และช้างพลัดตกบ่อน้ำลึกที่ปูผ้าใบด้านล่างแล้วลื่น ทำให้ขึ้นจากบ่อไม่ได้ล้มอีก 1 ตัว
ส่วนสาเหตุช้างป่าบาดเจ็บนั้น ช้าง 3 ตัวถูกรถชน รองลงมาคือโดนยิง 2 ตัว และอีก 1 ตัวมีรอยกระสุนยิงและบาดเจ็บจากบ่วงรัดขา รวมทั้งหมดปีนี้มีช้างป่าบาดเจ็บไป 3 ตัว
คนเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าทั้งหมด 17 คน แบ่งตามพื้นที่เกิดเหตุในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 5 ราย และนอกพื้นที่อนุรักษ์ 12 ราย สาเหตุของผู้เสียชีวิตจากช้างป่านอกพื้นที่อนุรักษ์เกิดจากถูกช้างทำร้ายระยะประชิดในพื้นที่ชุมชนหรือพื้นที่เกษตรกรรม 8 ราย รองลงมาคือถูกช้างทำร้ายระหว่างขี่รถจักรยานยนต์ 2 ราย และถูกช้างพุ่งเข้าโจมตีระหว่างทำการผลักดันช้างและรักษาช้างอีก 2 ราย ผู้เสียชีวิตจากช้างป่าในพื้นที่อนุรักษ์ 3 รายถูกช้างทำร้ายระหว่างเก็บของป่า มีผู้เสียชีวิต 1 รายถูกช้างทำร้ายระหว่างเดินเท้าไปที่จุดสกัด และอีก 1 รายถูกช้างทำร้ายระหว่างอยู่ในเต็นท์ในตอนกลางคืน
สาเหตุคนบาดเจ็บจากช้างป่าทั้งหมด 6 ราย เกิดจากขับรถยนต์ชนช้างป่าในตอนกลางคืน 4 ราย มี 1 รายถูกช้างทำร้ายระหว่างเก็บยางพาราอยู่ในสวนยาง และอีก 1 รายโดนลูกช้างชนหลังจากจุดประทัดระหว่างทำการผลักดันช้างในพื้นที่สวนของตน
พิจารณาจากพื้นที่ที่เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า ในปี 2564 นี้พบว่า กลุ่มป่าตะวันออกเป็นพื้นที่ที่มีคนและช้างบาดเจ็บและเสียชีวิตสูงที่สุด เมื่อเทียบกับกลุ่มป่าอื่น ๆ ในประเทศไทย โดยมีช้างป่าล้ม 7 ตัว ช้างป่าบาดเจ็บ 5 ตัว คนเสียชีวิต 13 ราย และคนบาดเจ็บ 5 ราย กลุ่มป่าที่มีความรุนแรงของปัญหารองลงมาคือกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กลุ่มป่าแก่งกระจาน-กุยบุรี กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว และกลุ่มป่าภูพาน-ภูสระดอกบัว
นอกจากช้างป่าแล้ว ในปีนี้ ทางเครือข่ายเสียงคนเสียงช้างได้พบข่าวคนเสียชีวิตและบาดเจ็บจากช้างเลี้ยงถึง 4 เหตุการณ์ โดยมีผู้เสียชีวิตจากช้างเลี้ยง 3 ราย มีสาเหตุมาจากถูกช้างทำร้ายขณะให้อาหาร 1 ราย ถูกช้างตกมันทำร้ายขณะลากไม้ 1 ราย และถูกช้างทำร้ายระหว่างเดินทางภายในป่าอีก 1 ราย ส่วนผู้บาดเจ็บนั้น ได้ถูกช้างทำร้ายระหว่างการให้อาหารช้าง 1 ราย
เครือข่ายเสียงคนเสียงช้าง ขอแสดงความเสียใจกับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่ามา ณ ที่นี้ และจะผลักดันการดำเนินการเพื่อปรับตัวและบรรเทาความรุนแรงของปัญหาคนกับช้างนี้ให้อยู่ในจุดสมดุลที่มีความปลอดภัยและสุขใจทั้งคนและช้างต่อไป
ข้อสังเกตจากการรวมรวบข้อมูลความเสียหายต่อชีวิตของคนและช้างในปีนี้ พบว่า จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 2 เท่า กล่าวคือ ปี 2563 มีผู้เสียชีวิต 8 ราย แต่ในปีนี้มีถึง 17 ราย ส่วนช้างล้มเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 1 ตัว ช้างบาดเจ็บเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 5 ตัว นั่นหมายความว่า สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าในปีนี้มีความรุนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
เรื่องน่ากังวลอีกอย่างจากการรวบรวมข้อมูลครั้งนี้คือ ช้างสร้างความเสียหายนอกพื้นที่อนุรักษ์หรือนอกป่ามากขึ้น แต่แหล่งข่าวไม่ได้ระบุรายละเอียดถึงสาเหตุของการที่ช้างทำร้ายคนอย่างชัดเจนนักเหมือนปีก่อน เช่น ช้างตกใจเสียงประทัดหรือเจอช้างในระยะกระชั้นชิด แต่ข่าวส่วนใหญ่ในปีนี้จะระบุว่า ผู้ตายเข้าสวนไป และมีคนมาพบอีกทีก็เสียชีวิตไปแล้ว อาจจะกล่าวเป็นนัยได้ว่าช้างมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ประกอบกับช้างที่สร้างปัญหานั้นเป็นช้างโทน และน่าจะอยู่ในช่วงตกมันซึ่งตรงกับช่วงฤดูเก็บเกี่ยวพืชอาหารพอดี ดังนั้น หากทางภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถทำให้ช้างป่าอยู่ในป่าได้ มาตรการที่ช่วยลดความเสียหายภายนอกป่าจึงมีความจำเป็นและสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เช่น การเพิ่มการมองเห็นช้างป่าจากระยะไกล การสนับสนุนกลุ่มเฝ้าระวังผลักดันช้างป่าของชุมชนอย่างเป็นทางการ การแจ้งข่าวสารการเคลื่อนที่ของช้างป่าผ่านเครือข่ายติดตามช้างป่า หรือแม้กระทั่งระบบการจ่ายเงินหรือชดเชยความเสียหายที่เกิดจากช้างป่าที่เป็นรูปธรรมก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน
อนึ่ง ท่านสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มความปลอดภัยของทั้งคนและช้างผ่านโครงการระดมทุนสนับสนุนแสงไฟเพื่อความปลอดภัยของชาวสวนใน 3 หมู่บ้าน 2 อำเภอ จังหวัดกาญจนบุรี ที่ดำเนินการผ่านเว็บไซต์เทใจดอทคอม คลิก เทใจดอทคอม | ชุมชนการให้เพื่อคนไทย (taejai.com)
หากต้องการรายละเอียดของข้อมูลดิบและแหล่งอ้างอิง โปรด คลิกที่นี่ ถ้าผู้อ่านพบเห็นว่ามีข้อมูลใดตกหล่นไป สามารถติดต่อมาที่ info@humanelephantvoices.org ได้เลย
รวบรวมข้อมูล จัดทำสื่อและเรียบเรียงโดย บุตดา โชติมานวิจิต
ติดตามข่าวสารเสียงคน เสียงช้างได้ที่นี่
For more news and detail on Human-Elephant Voices, please visit here
Facebook: humanelephantvoices