“ช้าง ช้าง ช้าง ช้าง ช้าง น้องเคยเห็นช้างรึเปล่า ช้างมันตัวโตไม่เบา จมูกยาว ยาว เรียกว่างวง มีเขี้ยวใต้งวงเรียกว่างา” จากเพลงที่เราเคยร้องในวัยเด็กสุดฮิตของเด็กไทย แต่ทราบหรือไม่ว่า งาช้างคืออะไร มีหน้าที่อะไรและมีประโยชน์อย่างไรกับช้างบ้าง
“งาช้าง” คือ ฟันตัดแถวบน (Incisor) ที่งอกออกมาจากปากของช้าง ช้างแอฟริกันจะมีงายื่นออกมาทุกตัว ในขณะที่ช้างเอเชียจะมีเพียงช้างตัวผู้บางตัวเท่านั้นทีมีงายื่นออกมา ประเทศไทย เรียกช้างตัวผู้ที่มีงายาวว่า “ช้างพลาย” และช้างตัวผู้ที่งาไม่ได้ยื่นออกมา เรียกว่า “ช้างสีดอ” ส่วนช้างตัวเมีย เรียกว่า “ช้างพัง” ในบางกรณี เราอาจพบว่าช้างพังก็มีฟันคู่ดังกล่าวยื่นออกมาเกินริมฝีปากได้เช่นกัน เราจะเรียกฟันคู่นี้ว่า “ขนาย”
งาช้างมีองค์ประกอบคล้ายฟันของมนุษย์ โดยโครงสร้างของงาประกอบด้วย ชั้นในสุดเป็นโพรงประสาทงา (Pulp cavity) ซึ่งมีเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เลือดมาหล่อเลี้ยงและเซลล์ต่างๆ โพรงประสาทงาเชื่อมต่อกับกะโหลกบริเวณช่องทางเดินหายใจ (Nasal cavity) โดยโพรงประสาทงายาวประมาณ 1 ใน 3 ของความยาวงา ชั้นต่อมาของงาเป็นเนื้องา (Dentine) ซึ่งเป็นองค์ประกอบใหญ่กว่า 95% ของงา หรือเราอาจเรียกว่าเนื้องา มีลักษณะเป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่สะสมแร่ธาตุ แข็งคล้ายกระดูก และชั้นนอกสุด คือ ส่วนเคลือบงา (Cementum) ที่เป็นเนื้อเยื่อสะสมแร่ธาตุชั้นนอกช่วยยึดงาตึดกับกระดูก

งาช้างสามารถงอกยาวได้เรื่อย ๆ ตลอดชีวิตของช้าง จึงทำให้งาช้างสามารถบอกความอาวุโสได้ หากไม่หักออกไปเสียก่อน แต่ส่วนใหญ่งาช้างป่าจะไม่ค่อยยาว เพราะช้างป่ามักจะคอยลับงาอยู่เสมอ โดยแทงงากับต้นไม้ ริมตลิ่ง ลําห้วย และโป่ง บางครั้งงาจึงหักหรือหลุด ซึ่งทำให้เราพบเห็นช้างงาเดียว ช้างงาบิ่น ได้ตามธรรมชาติ ช้างยังสามารถใช้งาในการขุดหาน้ำ หรือขูดต้นไม้เพื่อกินเปลือกไม้ ใช้เปิดเส้นทางด้วยการงัดกิ่งไม้ออก นอกจากนี้ ช้างยังใช้งาป้องกันตัว และต่อสู้กันระหว่างเพศผู้ ซึ่งเราคงได้ยินข่าวมาบ้างว่า ช้างบาดเจ็บมีรอยงาแทงเข้าไปที่ลำตัวจากการต่อสู้

งา กับ ความอยู่รอด
พรานล่าช้าง เลือกที่จะยิงหรือวางยาพิษให้ช้างตาย ก่อนที่จะนำงาช้างออกมาจากโคนซึ่งอยู่ติดกับกะโหลก หากช้างยังไม่ตายก็จะเสียเลือดมาก และมีโอกาสเกิดการอักเสบ เนื่องจากการดึงงาออกมาจากตัวช้าง หมายถึงการฉีกขาดของเนื้อเยื่อและเส้นประสาทจำนวนมากที่ยึดติดอยู่กับกะโหลกช้าง ผลของการล่าช้างยังส่งผลระยะยาวต่อวิวัฒนาการ เช่น กรณีของช้างป่าในประเทศศรีลังกา ผลจากการล่าช้างเอางามาอย่างยาวนาน ทำให้ประชากรช้างป่าเพศผู้รุ่นใหม่กว่า 93% เป็นช้างที่ไม่มีงา และการล่าช้างงาออกจากประชากร ยังอาจส่งผลเชื่อมโยงต่อสุขภาพช้างโดยรวมในประชากรนั้น เนื่องจากมีบางงานวิจัยบ่งชี้ว่า ช้างที่มีงายาว จะพบปรสิตในกองมูลได้น้อยกว่าช้างที่มีงาสั้น หรืออีกนัยหนึ่งช้างที่มีงายาว มีความสัมพันธ์กับความต้านทานต่อปรสิต เหมือนการคัดเลือกช้างที่มีสุขภาพดี มีพันธุกรรมสุขภาพดีออกจากกลุ่ม การที่ล่าช้างที่มีงาออกไป อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชากรช้างป่าในระยะยาว
งาช้างจึงไม่ใช่แค่ฟันที่งอกออกมา แต่ยังทำหน้าที่คล้ายมือ อาวุธ และเครื่องตรวจวัดสุขภาพของเหล่าช้าง
เอกสารอ้างอิง
อารี พลดี. (2556). งา. สืบค้นจาก http://www.royin.go.th/?knowledges=งา-๑๑-กรกฎาคม-๒๕๕๖.
Cerling, E. T., Barnette, J. E., Chesson, L. A., Douglas-Hamilton, I, Gobush, K. S., Uno, K. T., Wasser, S. K. and Xu, X. (2016). Radiocarbon dating of seized ivory confirms rapid decline in African elephant populations and provides insight into illegal trade. Proceedings of the National Academy of Sciences.113(47):13330-13335. DOI: 10.1073/pnas.1614938113.
Kurt, F., Hartl, G. and Tiedemann, R. (1995). Tuskless bulls in Asian elephant Elephas maximus. History and population genetics of a man-made phenomenon. Acta Theriol. 40: 125–144. DOI:10.4098/at.arch.95-51.
Watve, M.G. and Sukumar, R. (1997). Asian elephants with longer tusks have lower parasite loads. Current Science. 72(11), 885-889.