ช้างทั่วโลก
ช้างทั่วโลก
ในปัจจุบัน ทั่วโลกมีสัตว์กลุ่มช้างที่ยังไม่สูญพันธุ์อยู่ทั้งหมด 3 ชนิดหรือสปีชีส์ แยกตามพื้นที่การกระจายตัวของช้าง ได้แก่ ทวีปแอฟริกา 2 ชนิด (สกุล Loxodonta spp.) และเอเชียอีก 1 ชนิด (Elephas sp.) ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็นอีก 4 ชนิดย่อยด้วยกัน
ข้อแตกต่างที่ใช้แยกช้างแอฟริกันออกจากช้างเอเชีย
- ช้างแอฟริกันมีขนาดตัวโดยเฉลี่ยที่ใหญ่กว่าช้างเอเชียมากกว่าประมาณ 1 เมตร นั่นคือ ช้างแอฟริกันมีความสูงจากพื้นถึงหัวไหล่ประมาณ 3-4 เมตร ในขณะที่ช้างเอเชียสูงประมาณ 2-3.5 เมตร
- ขนาดใบหูของช้างแอฟริกันจะมีขนาดใหญ่จนคลุมไปถึงหัวไหล ซึ่งใหญ่กว่าใบหูของช้างเอเชีย
- หน้าผากของช้างแอฟริกันจะมีโหนกอยู่ 1 โหนกแต่ของช้างเอเชียจะมีด้วยกัน 2 โหนก
- ช้างแอฟริกันมีฟันเขี้ยวคู่หน้าที่ยื่นออกมา หรือ “งา” ในทั้งสองเพศ แต่ช้างเอเชียจะพบในช้างตัวผู้เท่านั้น
ช้างแอฟริกา African elephant
ช้างแอฟริกา คือช้างที่อาศัยอยู่ในทวีปแอฟริกา ประกอบด้วยช้างแอฟริกันสะวันน่า (African savanna elephant, Loxodonta africanus) และ ช้างป่าแอฟริกัน (African forest elephant, Loxodonta cyclotis) ความแตกต่างของ 2 สปีชีส์นี้คือ ช้างแอฟริกันสะวันน่าจะมีขนาดตัวที่ใหญ่กว่าช้างป่าแอฟริกันโดยเฉลี่ยประมาณ 1 เมตรทั้งในตัวผู้และตัวเมีย หากสังเกตจากชื่อก็จะพบว่า ช้างแอฟริกันสะวันน่าสามารถพบได้บริเวณทุ่งหญ้าสะวันน่าในทวีปแอฟริกา หรือในประเทศเคนย่า แซมเบียและนามิเบีย ซึ่งเป็นสถานที่ในภาพยนตร์การ์ตูนเรื่อง The Lion King นั่นเอง ในขณะที่ช้างป่าแอฟริกันจะอยู่อาศัยในป่าดิบชื้นบริเวณตอนกลางของทวีป เช่น ในประเทศกาบอนและคองโก สถานะในการอนุรักษ์ของช้างแอฟริกันสะวันน่าและช้างป่าแอฟริกัน คือ ไม่มั่นคง (Vulnerable) (Blanc, 2008) ตามประกาศขององค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature, IUCN)
ช้างเอเชีย Asian elephant
ช้างเอเชีย (Asian elephant, Elephas maximus) คือช้างที่อาศัยอยู่ในทวีปเอเชีย ซึ่งสามารถแบ่งเป็นชนิดย่อยหรือสปีชีส์ย่อยได้เป็น 4 ชนิด ประกอบด้วย
– ช้างเอเชียแผ่นดินใหญ่ หรือ ช้างอินเดีย (Mainland or Indian elephant, E. m. indicus) พบได้ในทวีปเอเชียตั้งแต่ประเทศอินเดีย เนปาล ภูฏาน จีน พม่า ลาว เวียดนาม ไทยและมาเลเซีย เป็นชนิดย่อยที่มีการกระจายมากที่สุดเมื่อเทียบกับชนิดย่อยอื่น ๆ
– ช้างศรีลังกา (Sri Lankan Elephant, E. m. maximus) พบได้ในประเทศศรีลังกาเท่านั้น เป็นช้างเอเชียที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และผิวหนังมีสีคล้ำที่สุด
– ช้างสุมาตรา (Sumatran elephant, E. m. sumatranus) พบได้เฉพาะที่เกาะสุมาตราของประเทศอินโดนีเซีย ทั้งนี้ ช้างสุมาตราเป็นช้างที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากที่สุดเนื่องจากถิ่นที่อยู่อาศัยถูกทำลายและมีจำนวนเหลือไม่ถึง 3,000 ตัวทั่วโลก
– ช้างบอร์เนียว (Borneo elephant, E. m. borneensis) หรือช้างแคระบอร์เนียว เป็นช้างที่มีขนาดตัวเล็กที่สุดในสัตว์ตระกูลช้างที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ช้างบอร์เนียวมีการกระจายตัวอยู่ตามหย่อมป่าบนเกาะบอร์เนียวของประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซียและบรูไน
อ้างอิง
Blanc, J. 2008. Loxodonta africana. The IUCN Red List of Threaten Species 2008: e.T12392A3339343.
Choudhury, A., Lahiri Choudhury, D.K., Desai, A., Duckworth, J.W., Easa, P.S., Johnsingh, A.J.T., Fernando, P., Hedges, S., Gunawardena, M., Kurt, F., Karanth, U., Lister, A., Menon, V., Riddle, H., Rübel, A. & Wikramanayake, E. (IUCN SSC Asian Elephant Specialist Group) 2008. Elephas maximus. The IUCN Red List of Threatened Species 2008: e.T7140A12828813.
Fernando P, Vidya TNC, Payne J, Stuewe M, Davison G, Alfred RJ, et al. (2003) DNA Analysis Indicates That Asian Elephants Are Native to Borneo and Are Therefore a High Priority for Conservation. PLoS Biology, 1(1): e6. https://doi.org/10.1371/journal.pbio.0000006.