ช้างป่าในประเทศไทย

Home / ช้างป่าในประเทศไทย

ช้างป่าในประเทศไทย

ช้างป่าในประเทศไทย กระจายตัวอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั้งหมด 69 แห่งจากทั้งหมด 189 แห่ง คิดเป็น 37% ของพื้นที่อนุรักษ์ทั้งประเทศ จำนวนประชากรช้างทั้งประเทศในปี 2560 อยู่ที่ 3,084-3,500 ตัว แต่เมื่อเทียบกับจำนวนช้างป่าเมื่อ 14 ปีที่แล้ว มีแนวโน้มว่ากำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้น (AsESG Thailand Forum, 2017 & Srikrachang, 2003) กลุ่มป่าที่มีจำนวนช้างป่ามากที่สุดคือกลุ่มป่าตะวันตก รองลงมาคือ กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว กลุ่มป่าแก่งกระจาน-กุยบุรีและกลุ่มป่าตะวันออก

ช้างป่าในประเทศไทย
จำนวนช้างป่าในประเทศไทย, ข้อมูลจาก AsESG Thailand Forum, 2017

ภัยคุกคามของช้างป่าในประเทศไทยนั้นเป็นเช่นเดียวกับภัยคุกคามของช้างในระดับทวีป นั่นก็คือ แหล่งที่อยู่อาศัยของช้างป่าลดลง สาเหตุหนึ่งมาจากการเพิ่มขึ้นของประชากรมนุษย์และพื้นที่เกษตรกรรมทำให้พื้นที่ป่าลดลงไป 1.87% ในช่วงปี พ.ศ. 2552-2556 เทียบได้กับพื้นที่ 5 เท่าของกรุงเทพมหานคร ในบางพื้นที่ จำนวนประชากรช้างก็ลดลงทั้งจากการถูกล่าเพื่อเอางาหรือจับช้างออกมาจากป่าเพื่อใช้งาน นอกจากนี้ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างในประเทศไทยก็มีให้เห็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามข่าว เช่น ช้างป่าทำร้ายคนในสวนยางพารา จังหวัดกาญจนบุรี ช้างป่าดักปล้นอ้อยริมถนนสายฉะเชิงเทรา-วังน้ำเย็น หรือช้างป่าถูกรั้วไฟฟ้าช็อตตายคาไร่สับปะรด โดยรวมแล้วจะเห็นว่า แม้ว่ามีความพยายามในการอนุรักษ์ช้างป่าอยู่ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ลาดตระเวน หรือการให้ความรู้และข้อปฏิบัติตัวเมื่อเจอช้างให้กับประชาชนแล้ว แต่ปัญหาก็ยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบัน

 

สถานะการอนุรักษ์ ช้างป่าในประเทศไทย

อย่างที่รู้กันอยู่แล้วว่า ช้างป่าเอเชียจัดเป็นสัตว์ในกลุ่ม “ใกล้สูญพันธุ์” ตามประกาศขององค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ส่วนสถานะการอนุรักษ์ของ ช้างป่าในประเทศไทย ก็มีพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ช้างป่าจัดเป็น “สัตว์ป่าคุ้มครอง” ในบัญชีแนบท้ายกฎกระทรวง ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีข้อห้ามหลัก ๆ คือ ห้ามล่าทั้งในและนอกพื้นที่เขตอนุรักษ์ ห้ามครอบครอง ห้ามเพาะพันธุ์และห้ามทำการค้า ซึ่งรวมทั้งงาและซากของช้างป่าด้วย เว้นแต่จะได้รับอนุญาต หากฝ่าฝืนจะได้รับโทษปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท จำคุกไม่เกิน 4 ปีหรือทั้งจำทั้งปรับขึ้นอยู่กับกรณี

ในกรณีของช้างบ้านหรือช้างเลี้ยงนั้น ประเทศไทยก็จัดให้ช้างบ้านเป็นสัตว์พาหนะที่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติสัตว์พาหนะ พ.ศ. 2482 ซึ่งอยู่ในการควบคุมดูแลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยที่กำหนดให้เจ้าของช้างต้องจดทะเบียนตั๋วรูปพรรณช้างเพื่อแสดงกรรมสิทธิ์และป้องกันการลักสัตว์พาหนะ ปัจจุบันอีกกฏหมายที่กำลังมีการร่างขึ้นเพื่อใช้ดูแลช้างเลี้ยง คือ พระราชบัญญัติช้าง ซึ่งใช้เป็นกฎหมายในเรื่องการดูแลและจัดการปางช้าง สวัสดิภาพของช้างเลี้ยง และการขึ้นทะเบียนช้างเลี้ยงและควาญ ฯลฯ

พระราชบัญญัติ งาช้าง พ.ศ. 2558 ได้ระบุไว้ว่า ผู้ใดจะทำการค้า นำเข้า ส่งออกหรือนำผ่านซึ่งงาช้าง ให้ขอใบอนุญาตต่ออธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชก่อนถึงวันครอบครอง (อธิบดี) ตามมาตราที่ 4 และ 5 หากฝ่าฝืนจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนประชาชนผู้ใดที่ครอบครอง หรือประสงค์จะโอนการครอบครอง เปลี่ยนแปลงสถานที่ครอบครอง แปรสภาพ หรือเปลี่ยนรูปร่างงาช้างที่อยู่ในความครอบครองให้แจ้งหนังสือต่ออธิบดีก่อนวันกระทำการโอนการครอบครองดังกล่าวตามมาตราที่ 6 และ 7 หากฝ่านฝืนจะต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามล้านบาท

นอกจากสถานะการคุ้มครองช้างป่าในระดับประเทศแล้ว ช้างป่าถูกจัดอยู่ในบัญชีหมายเลข 1 ว่าด้วยอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์หรือ ไซเตส (The Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora: CITES) ซึ่งมีข้อตกลงว่า ห้ามมีการค้าขายชนิดพันธุ์ดังกล่าวโดยเด็ดขาดเนื่องจากใกล้สูญพันธ์ุ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเพื่อการศึกษา วิจัยหรือเพาะพันธุ์ซึ่งต้องได้รับคำยินยอมจากประเทศที่จะนำเข้าเสียก่อน

domesticated, captive elephant
ช้างเลี้ยง

เรื่องช้างที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย

ประเทศไทยมีความสัมพันธ์กับช้างป่ามาอย่างยาวนานหลายยุคสมัย อาจกล่าวได้ว่ามีความสำคัญต่อสถาบันสำคัญของประเทศอันได้แก่ ชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ ทั้งยังเกี่ยวข้องในเรื่องของเศรษฐกิจและความเชื่ออีกด้วย เราลองมาทำความรู้จักประวัติศาสตร์ของสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทยเรากันดีกว่า

หากจะกล่าวถึงเรื่องช้างกับประวัติศาสตร์ของประเทศไทย จะไม่กล่าวถึงเจ้าพระยาไชยานุภาพก็คงจะไม่ได้ จากบันทึกในพงศาวดารและคำให้การชาวกรุงเก่า เดิมทีพลายภูเขาทองเป็นช้างอยู่ในยุคสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองหลวงของสยาม ณ ขณะนั้น หลังจากได้ขึ้นระวางก็ได้บรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาไชยานุภาพ เป็นช้างคู่พระบารมีในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และหลังจากที่ได้ชนะศึกยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาในปี พ.ศ. 2135 ก็ได้รับพระราชทานนามว่า “เจ้าพระยาปราบหงสาวดี” เชื่อกันว่าเป็นช้างที่มีความจงรักภักดี และมีความกล้าหาญเสียสละช่วยกอบกู้ชาติให้แผ่นดิน

The white elephant flag, Thai national flag
ธงช้างเผือก, ภาพโดย Xiengyod & Sodacan, Wikipedia.org

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ของราชวงศ์จักรีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สยาม ณ เวลานั้นใช้ธงชาติเป็นรูปช้างเผือกบนผืนผ้าสีแดง ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสสิงคโปร์และเบตาเวีย (จาการ์ตาในปัจจุบัน) ประเทศอินโดนีเซีย ได้พระราชทานช้างสำริดให้ทั้ง 2 ประเทศเพื่อสร้างสัมพันธไมตรีและการค้าร่วมกัน

ความสัมพันธ์ของช้างกับคนในประเทศไทยถูกโยงกันด้วยเรื่องของศาสนาและความเชื่อ ในพุทธประวัติก็มีพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ที่มีช้างป่าลิไลกะหมอบถวายกระบอกน้ำอยู่แทบพระบาทพร้อมกับลิงที่ร่วมถวายน้ำผึ้งให้กับพระพุทธเจ้า หากสนใจชมพระพุทธรูปปางนี้ สามารถเข้าไปนมัสการได้ที่พระวิหารวัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี  หรือจะเป็นตัวอย่างด้านศิลปวัฒธรรมของช้างในสมัยสุโขทัย ก็สามารถเข้าชมเจดีย์วัดช้างล้อม อ. ศรีสัชนาลัย จ. สุโขทัยที่มีการประดิษฐานช้างล้อมรอบส่วนฐานของเจดีย์

วันสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยของช้างป่าก็คือ วันที่ 13 มีนาคม ซึ่งถูกแต่งตั้งให้เป็น “วันช้างไทย” โดยคณะรัฐมนตรีในปี พ.ศ. 2541 นับเป็นการยกย่องให้เกียรติว่า ช้างเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก เหตุผลที่เลือกวันที่ 13 มีนาคมเป็นวันช้างไทยนั้นก็เพราะว่าเป็นวันที่คณะกรรมการคัดเลือกสัตว์ประจำชาติมีมติให้ช้างเผือกเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย ในขณะที่ตอนแรกจะเลือกให้เป็นวันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทำยุทธหัตถีในอดีต เพียงแต่วันดังกล่าวถูกใช้เป็นวันกองทัพไทยไปแล้ว ดังนั้น เพื่อเป็นการกระตุ้นให้คนในประเทศหันมาสนใจช้าง รักและหวงแหนช้างมากขึ้นจึงได้จัดวันช้างไทยขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

อ้างอิง

AsESG Thailand Forum. 2017. Mapping of wild elephant presence sites, population, and HEC presence sites in Thailand. In the meeting of Asian elephant specialists and potential members of Thailand on 17 May 2017 supported by WWF-TH Dawna Tenasserim Transboundary programme, Bangkok.
Srikrachang, M. 2003. Conservation and Management of Elephants in Thailand. Ph.D. Dissertation, Mahidol University. Thailand.
6 ข้อสำคัญกับช้างป่าในประเทศไทย https://idgthailand.com/elephant_day-2018/
เล่าเรื่องช้างกับประเทศไทย https://www.newtv.co.th/news/12827
ปางป่าเลไลยก์ http://www.onab.go.th/
ตำนานช้างในพระพุทธศาสนา https://kaawrowkaw.wordpress.com/