วันที่ 6 ตุลาคม 2563 อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (ปราจีนบุรี) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ประชุมจัดทำ แผนแม่บทการจัดการช้างป่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยมีนายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชเป็นประธานในที่ประชุม อีกทั้งยังมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่เข้าร่วมประชุมด้วย ทางด้านโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบเพื่อการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างฯ (สกสว.) ได้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วยโดยมีนายพิเชฐ นุ่นโตเข้าร่วมประชุมในฐานะตัวแทนกลุ่มวิจัยฯ
ในที่ประชุมได้สรุปผลการทำงานของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ตั้งแต่เหตุการณ์ช้างป่า 11 ตัว ตกน้ำตกเหวนรก เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2562 ปัญหาช้างป่ารบกวนนักท่องเที่ยวภายในอุทยาน ช้างป่าที่ออกนอกพื้นที่อุทยานและเข้าไปทำลายพืชผลการเกษตรในพื้นที่ชุมชน โดยกิจกรรมที่ทางอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ดำเนินการไปแล้ว ได้แก่
1) การจัดตั้งชุดผลักดันช้างป่าใน 4 จังหวัด คือ นครราชสีมา สระบุรี นครนายกและปราจีนบุรี โดยแต่ละชุดมีเจ้าหน้าที่ 4 นาย
2) ปรับปรุงและเพิ่มแนวกั้นช้าง (เพนียด) และทำฐาน ช. ช้างเพื่อป้องกันช้างป่าข้ามน้ำตกเหวนรก
3) ติดตาม จำแนกรูปพรรณและพฤติกรรมช้างป่าด้วยภาพถ่าย
4) เผยแพร่และประชาสัมพันธ์งานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาช้างป่าของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
ต่อมา ในที่ประชุมก็ได้นำเสนอ และปรับแก้ร่าง แผนแม่บทการจัดการช้างป่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ร่วมกัน ในที่ประชุมมีทั้งตัวแทนจากกรมอุทยานแห่งชาติฯ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร กลุ่มรักษ์เขาใหญ่ นักสื่อความหมายธรรมชาติ องค์กรพัฒนาเอกชนรอบเขาใหญ่ ช่างภาพสัตว์ป่า และตัวแทนชุมชนบริเวณเขาใหญ่ โดยแต่ละท่านได้ให้ความเห็นต่อยุทธศาสตร์และปรับแก้ให้ความเห็นรายประเด็น จนสรุปเป็นยุทธศาสตร์ทั้งหมด 5 ข้อด้วยกัน แบ่งเป็นยุทธศาสตร์การจัดการช้างป่าในพื้นที่อุทยาน 2 ข้อ และนอกพื้นที่อุทยาน 3 ข้อ รายละเอียดโดยสรุปดังนี้
1) ยุทธศาสตร์การจัดการพฤติกรรมและที่อยู่อาศัยของช้างป่า
2) ยุทธศาสตร์การป้องกันความเสียหายจากช้างป่าและคุ้มครองสัตว์ป่า
3) ยุทธศาสตร์การส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ป่าและมนุษย์
4) ยุทธศาสตร์การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการจัดการปัญหาช้างป่า
5) ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน
โดยกิจกรรมใหม่ที่ทางภาคประชาชนนำเสนอเข้าไปในแผน คือ การสร้างระบบอาสาสมัคร โดยเชื่อมโยงการทำงานอาสาของนักศึกษา เข้ากับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และอาสาชุมชนรอบเขาใหญ่ที่มีใจรักช้างป่า ซึ่งเป็นการวางพื้นฐานข้อมูล และระบบกำลังคนที่จะช่วยให้การจัดการปัญหาช้างป่าอยู่บนหลักวิชาการ และการมีส่วนร่วม
หลังจากนี้ ทางอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่จะเร่งจัดทำแผนดังกล่าวและเสนอจัดตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาช้างป่า และส่งให้ทางกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าพิจารณาอนุมัติแผนงานให้ดำเนินการอีกครั้ง
On October 6th, 2020.
Mr. Bhichet Noonto as a representative of Thailand Human-Elephant Coexistence Project (THECx) has been invited to attend the meeting for Designing the Khao Yai National Park Elephant Management Master Plan at Khao Yai National Park, Nakorn Ratchasima Province.
Since the fall of 11 elephants at Haew Narok Waterfall on October 6th, 2020, Khao Yai National Park has done four main activities to prevent that event occur again. There were setting four elephant patrolling units, counting and census the elephant population in Khao Yai National Parl, repairing the elephant barrier and setting the Chor Chang patrolling base at Haew Narok Waterfall. There were no incidents occurred since then.
Later, the meeting has re-designed the Khao Yai National Park Elephant Management Master Plan. There were categorized into five strategies: elephant behavior and habitat management, elephant mitigation plan and wildlife protection, wildlife and human welfare, technology and innovation for resolving elephant problem and sustainable co-management plan. In addition, community also suggested the volunteer-based and citizen science for collecting the elephant data. This data will be used to construct the human-elephant mitigation plan in the future. To sum up, Khao Yai National Park will assessed the Master Plan again before sending to request the permission from Department of National Park, Wildlife and Plant Conservation.
ติดตามข่าวสารเสียงคน เสียงช้างได้ที่นี่
For more news and detail on Human-Elephant Voices, please visit here
Facebook: humanelephantvoices