Foods & Habitat

Home / Foods & Habitat

ถิ่นที่อยู่อาศัย และอาหารการกิน

ช้างเอเชียเป็นสัตว์ที่มีการกระจายตัวหรืออยู่อาศัยได้ในสิ่งแวดล้อมที่หลากหลายตั้งแต่ทุ่งหญ้า ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบเขา หรือแม้กระทั่งป่าปลูกของมนุษย์ เช่น สวนป่าสักหรือสวนยางพารา นอกจากป่าที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพรรณแล้ว ช้างยังต้องการแหล่งน้ำที่สะอาดเพื่อดื่มและพักผ่อนคลายร้อนในบางเวลา

ปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของช้างมีด้วยกัน 3 อย่าง นั่นก็คือ อาหาร แหล่งน้ำและดินโป่ง จากงานวิจัยการศึกษานิเวศวิทยาของช้างป่าและช้างเลี้ยงจากนักวิชาการหลายแห่งพบว่า ช้างเป็นสัตว์ที่มีพืชอาหารหลากหลาย โดยหลัก ๆ จะเป็นหญ้า ไม้พุ่ม ผลไม้ ยอดอ่อน รากไม้หรือแม้กระทั่งเปลือกไม้ก็พบได้เช่นกัน ตัวอย่างของพืชอาหารที่ช้างกินในธรรมชาติ เช่น หญ้า หยวกกล้วย และหน่อไม้ เป็นต้น ช้างต้องกินอาหารมากถึง 200 กิโลกรัมต่อวัน โดยใช้เวลากินโดยเฉลี่ย 16 ชั่วโมง และต้องการน้ำมากถึง 200 ลิตรต่อวัน ยกตัวอย่างงานวิจัยการใช้ประโยชน์พื้นที่และเส้นทางเคลื่อนที่ของโขลงช้างป่าบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงพบว่า ช้างมีระยะทางเคลื่อนที่ในรอบวันเฉลี่ยประมาณ 2.17 กิโลเมตรในฤดูแล้งแต่ในฤดูฝนจะอยู่ที่ประมาณ 1.78 กิโลเมตร และจะใช้พื้นที่บริเวณป่าเบญจพรรณมากกว่าป่าเต็งรังหรือพื้นที่เกษตรกรรม  ส่วนชนิดของพืชอาหารที่ช้างป่ากินในประเทศไทยจากการศึกษาวิจัยของสถานีวิจัยสัตว์ป่าภูหลวงพบว่า ช้างป่ากินพืชวงศ์ไผ่และหญ้ามากที่สุด เช่น แขม เลา ไผ่เครือวัลย์ หรือหญ้าคา รองลงมาก็พืชวงศ์กล้วยป่า ขิงข่าและกล้วยไม้

นอกจากอาหารและน้ำแล้ว ช้างยังต้องการเกลือแร่และแร่ธาตุอาหารจากดินโป่งเพื่อซ่อมแซมร่างกายส่วนที่สึกหรอเหมือนที่คนเราต้องการวิตามินด้วยเช่นกัน ซึ่งช้างสามารถใช้งาหรือขาขุดและเขี่ยดินที่มีแร่ธาตุขึ้นมา และใช้งวงหยิบดินขึ้นมากินได้เลย

รูปทุ่งหญ้า ดินโป่งและแหล่งน้ำ

อ้างอิง
จิรชัย อาคะจักร และ วุฒินันท์ พวงสาย. 2558. การศึกษาพฤติกรรมการกินพืชอาหารของช้างฝูงและช้างโทนในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จังหวัดเลย. หน้า 401-447. ใน ผลงานวิจัย และรายงานความก้าวหน้างานวิจัย ประจำปี 2556-2558. กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. กรุงเทพฯ.

สมหญิง ทัฬหิกรณ์ และ ตะวัน สีทอง. 2554. เส้นทางการเคลื่อนที่ของโขลงช้างป่า พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง. หน้า 183-187. ใน ผลงานวิจัย และรายงานความก้าวหน้างานวิจัย ประจำปี 2553. กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. กรุงเทพฯ.