งวงช้างเป็นปากที่ใช้กินอาหาร, ใช้พ่นน้ำ หรือว่าเป็นมือพิเศษของช้างกันนะ ??
หลายคนคงสงสัยว่า สรุปแล้วงวงช้างทำหน้าที่อะไรและมีประโยชน์กับช้างอย่างไร เราลองมาหาคำตอบไปด้วยกันกับ Human Elephant Voices
“งวงช้าง” คือ อวัยวะที่สุดพิเศษของช้าง เป็นอวัยวะที่รวมกันระหว่างส่วนของริมฝีปากบนกับจมูก แม้ว่าจะไม่มีกระดูกอยู่ภายในเลย แต่งวงช้างก็ประกอบไปด้วยระบบประสาทที่ละเอียดอ่อนและกล้ามเนื้อที่มากถึง 40,000 มัดเลยทีเดียว ทำให้งวงนั้นมีลักษณะอ่อนนุ่ม และก็สามารถหยิบจับของกินชิ้นเล็ก ๆ ได้ง่ายด้วย หากอาหารที่ต้องการนั้นอยู่สูงเกินเอื้อม ช้างจะพันงวงเข้ากับต้นไม้หรือกิ่งไม้ และเขย่าเอาอาหารลงมาหรืออาจล้มต้นไม้ทั้งต้นเพื่อเด็ดยอดอ่อนมากิน
งวงช้างยังมีระบบประสาททีละเอียดอ่อนสำหรับใช้รับกลิ่นสัมผัส จากงานวิจัยพบว่า ช้างแอฟริกันสามารถได้กลิ่นของแหล่งน้ำที่อยู่ไกลออกไปถึง 19 กิโลเมตร ในกรณีที่ช้างตาบอด งวงช้างจะสามารถทำหน้าที่ได้เสมือนไม้เท้าที่ช่วยนำทางได้อีกเช่นกัน นอกจากความสามารถในด้านการหาอาหารและรับกลิ่นแล้ว ช้างยังใช้งวงเป็นท่อน้ำเพื่อดูดน้ำมาสาดตัวคลายความร้อนหรือดิ่มได้อีกด้วยความจุน้ำที่มากถึง 10-14 ลิตร ในกรณีที่ช้างว่ายน้ำ งวงเป็นท่อช่วยหายใจได้ดี และงวงช้างยังสามารถดูดดินหรือโคลนขึ้นมาสาดใส่ตัวเองเพื่อไล่แมลงรำคาญหรือกันแดดที่แผดเผาผิวหนังได้อีกเช่นกัน
งวงช้างยังมีบทบาทสำคัญในสังคมของช้าง ช้างที่คุ้นเคยกันจะทักทายกันโดยการพันงวงรอบงวงของอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งจะคล้ายกับการจับมือของมนุษย์ นอกจากนี้ ช้างยังสามารถใช้งวงในการเกี้ยวพาราสีและปฏิสัมพันธ์ระหว่างแม่-ลูก รวมถึงการชูงวงขึ้นสามารถเป็นได้ทั้งการเตือนหรือการคุกคามต่อสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ๆ แต่ในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งกันระหว่างช้างด้วยกันเอง ช้างที่ปล่อยงวงลงจะหมายถึงการจำยอมต่อช้างตัวที่เหนือกว่า ทั้งนี้ ช้างยังสามารถป้องกันตนเองจากผู้ล่าได้เป็นอย่างดีโดยการเหวี่ยงงวงหรือฟาดอย่างรุนแรง รวมไปถึงการจับและขว้างสิ่งของออกไปเมื่อพบผู้รุกรานก็ได้อีกเช่นกัน
โดยสรุปแล้ว งวงช้าง ถือเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งสำหรับช้าง เพราะมีหน้าที่สำหรับการดำรงชีวิตพื้นฐานตั้งแต่หายใจ หยิบจับสิ่งของ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสังคมช้างและการป้องกันตัวเองจากภัยคุกคาม
อ้างอิง
ลักษณะต่าง ๆ ของช้าง. https://sites.google.com/site/bv540105/page6.
Shoshani, J. 1998. Understanding proboscidean evolution: a formidable task. Trends in Ecology & Evolution, Volume 13, Issue 12, 1: 480-487.