Kuiburi National Park
การปรับตัวของเกษตรกรเพื่ออยู่ร่วมกับช้างป่าอย่างสันติ บริเวณชายขอบป่าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี หมู่บ้านรวมไทย ตำบลหาดขาม อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ในอดีตพื้นที่กุยบุรีมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่ารุนแรง จนกระทั่ง โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ริเริ่มการแก้ปัญหาคนกับช้างป่าอย่างมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วนให้เข้ามาร่วมกันทำงานแก้ปัญหาช้างป่า เช่น อุทยานแห่งชาติกุยบุรี WWF Thailand กลุ่ม POWER of Kuiburi ช้างป่าบ้านพ่อ มูลนิธิอนุรักษ์สัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย นักวิจัยท้องถิ่นกุยบุรี (สกว. เดิม) และชมรมฅนรักษ์ช้างป่ากุยบุรี แต่ละองค์กรได้ทำงานตามเป้าหมาย และลงมือทำงานอย่างหนัก ซึ่งผลจากการทำงาน ทำให้พื้นที่กุยบุรีเป็นต้นแบบหนึ่งในการทำงานแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า
ชุมชนบ้านรวมไทย ตำบลหาดขาม อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีพื้นที่ติดกับโครงการรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี และอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ชุมชนบ้านรวมไทยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปลูกสับปะรด สวนยางพารา และสวนผลไม้ นอกจากนี้ชาวบ้านบางส่วนยังพลิกวิกฤติเป็นโอกาสทำการท่องเที่ยวเชิงนิเวศดูช้างป่ากุยบุรี
จากประวัติศาสต์อันยาวนาน และมีผู้เข้าร่วมในการอนุรักษ์และแก้ปัญหาช้างป่าของพื้นที่ป่ากุยบุรีเป็นจำนวนมาก ทั้งการเฝ้าระวังผลักดัน การปรับปรุงแหล่งอาศัย และการสร้างการมีส่วนร่วม แต่รูปแบบพฤติกรรมช้างป่ายังคงออกมาหากินในพื้นที่ทำกินของชาวบ้านอยู่เสมอ แม้จะมีการทำความเข้าใจและลดผลกระทบด้วยวิธีการต่างๆแล้ว แต่ชาวบ้านบางส่วนยังประสบปัญหา และต้องเฝ้าระวังพืชผล ทำให้ชาวบ้านบางท่านเสียสุขภาพ และมีปัญหาครอบครัวตามมาเนื่องจากไม่ได้ใช้เวลากับครอบครัว ชาวบ้านรวมไทยที่อยู่แนวหน้า ที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่ามากว่า 20 ปี จึงต้องการหาทางเลือก และทางออกในการปรับตัวได้อย่างเหมาะสม โดยมีเป้าหมายเพื่อการอยู่ร่วมอย่างสันติระหว่างคนกับช้างป่า ลดผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตร และส่งต่อต้นทุนความรู้ที่อยู่ร่วมกับช้าง ให้ลูกหลานเพื่อดูแลป่าและช้างป่าตามแนวชายป่าที่ติดกับพื้นที่ทำกินของตนเอง
จากเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กุยบุรี ชุมชนบ้านรวมไทยได้ตั้งคำถามร่วมกันกับทีมวิจัย อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อศึกษาแนวทางการปรับตัวของเกษตรกร ในวิถีอยู่ร่วมกับช้างป่าอย่างสันติ ชุมชนเสนอแนวคิดและความต้องการศึกษาและประเมินสถานการณ์ของคนกับช้างป่าในหมู่บ้านรวมไทยโดยเน้นไปที่ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง โดยเริ่มจากสกัดประสบการณ์ของชุมชนที่อยู่ร่วม ขัดแย้ง กับช้างออกมาเป็นชุดความรู้ พร้อมสำรวจ และนำร่องทดลองทางเลือกบนต้นทุนพื้นที่ ได้แก่ การดูช้าง และเกษตรทางเลือก เพื่อให้ได้แนวทางที่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติระหว่างคนกับช้างป่า องค์ความรู้และเรื่องเล่าที่อยู่ร่วมกับช้าง คาดหมายให้เป็นชุดความรู้ที่ใช้แลกเปลี่ยนไปสู่การสร้างปฏิสัมพันธ์เชิงบวกมากขึ้น ระหว่างชุมชนคนด่านหน้าที่ได้รับผลกระทบมากกับชุมชนแนวหลังที่ได้รับผลกระทบน้อย และชุมชนกับรัฐ เพื่อร่วมกันจัดการช้างป่าได้ดีขึ้นในอนาคต
วัตถุประสงค์โครงการวิจัย
- เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ในชุมชน ในการประเมินสถานการณ์การอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่า ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่าและพื้นที่ติดกับชายป่า รวมถึงถอดบทเรียนประสบการณ์การอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่าของสมาชิกกลุ่มและชุมชน เพื่อนำไปสู่การ สร้างปฏิสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างคนกับช้างป่า
- เพื่อศึกษาพฤติกรรม จำนวน และความถี่ของช้างป่า ที่ออกมาในพื้นที่ทางการเกษตรของชุมชน เพื่อการวิเคราะห์วางแผนสำหรับชุมชน และศึกษาทดลองการลดผลกระทบจากช้างป่าด้วยต้นทุนทางการท่องเที่ยวและการเกษตรในการปรับตัวให้อยู่กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคตได้