Phu Luang

Home / Phu Luang

การพัฒนาระบบการจัดการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ บนฐานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นรอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ภูหลวงมีความหมายว่าเขาที่สูงใหญ่ หรือหมายถึงภูเขาของพระเจ้าแผ่นดิน  เขตฯ ภูหลวงตั้งอยู่ในท้องที่จังหวัดเลย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลปลาบ่า ตำบลท่าศาลา อำเภอ ภูเรือ ตำบลโพนสูง ตำบลวังยาว และตำบลอีปุ่ม อำเภอด่านซ้าย ตำบลหนองงิ้ว ตำบลเขาหลวง และตำบลทรายขาว อำเภอวังสะพุง ตำบลภูหอ และตำบลเลยวังไสย์ กิ่งอำเภอภูหลวง จังหวัดเลย เขตฯภูหลวงมีลักษณะเป็นภูเขาลูกใหญ่ มีที่ราบหลังเขาที่ระดับความสูงประมาณ 1,200 – 1,500 เมตร มีเนื้อที่ประมาณ 100 ตารางกิโลเมตร  หรือ 560,593 ไร่ ป่าบนภูหลวงประกอบด้วยป่าดิบเขา ป่าสนเขา และป่าเบญจพรรณ ชุมชนรอบภูหลวงส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำไร่ ทำนา และสวนผลไม้ พืชไร่สำคัญส่วนใหญ่ที่ปลูก ได้แก่ อ้อย และข้าวโพด ไม้ผล เช่น ส้ม พุทรานมสด แมคคาเดเมีย ฯลฯ นอกจากนี้บนภูหลวงและโดยรอบยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติหลายแห่ง

ปัจจุบันเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง มีจำนวนช้างป่าประมาณ 186 ตัว (สำรวจโดยสถานีวิจัยสัตว์ป่าภูหลวง และ รศ.ดร.รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล) ซึ่งคนกับช้างป่าของภูหลวง มีความผูกพันกันมายาวนาน โดยมีตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับพญาช้าง กับนางผมขาว ที่มีลูกหลานเป็นคน และเกิดภูประเทศบริเวณภูหลวงเนื่องจากการล้มของพญาช้าง ซึ่งตำนานดังกล่าวเปรียบเป็นความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณเจ้าป่าเจ้าเขาของภูหลวง

มีช้างป่าภูหลวงที่ออกมานอกเขตป่าภูหลวง พบในพื้นที่ 5 อำเภอคือ อำเภอภูเรือ, อำเภอด่านซ้าย, อำเภอภูหลวง และอำเภอวังสะพุง  จังหวัดเลย จำนวนประมาณ 46 ตัว และอำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์จำนวนประมาณ  5  ตัว รวมจำนวนประมาณ 51 ตัว (สำรวจโดยสถานีวิจัยสัตว์ป่าภูหลวง และ รศ.ดร.รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล)  โดยปัจจัยที่เอื้อให้ช้างป่าออกมามีปฏิสัมพันธ์กับคน ได้แก่ พืชเกษตรรอบภูหลวง ได้แก่ข้าวโพด  อ้อย  มันสำปะหลัง ข้าว กล้วยและแหล่งน้ำ ประกอบกับการพบการรบกวนในเขตป่าอนุรักษ์ เช่น การล่าสัตว์ ลักลอบตัดไม้ และขยายที่ทำกินในเขตป่า

การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาสถานีวิจัยสัตว์ป่าภูหลวง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง และเจ้าหน้าที่โครงการฟื้นฟูพืชอาหารช้างป่าเฝ้าระวังช้างออกนอกเขตพื้นที่ป่าและมีการจัดตั้งเวรยามคอยระวังไม่ให้ช้างออกมาทำลายพืชผลทางการเกษตรของเกษตรกรรอบป่าภูหลวง  ในบางพื้นที่มีการปลูกไผ่หนามเพื่อเป็นแนวกันชนไม่ให้ช้างออกมาทำลายพืชผล  บางชุมชนมีการทำลวดหนามระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร เพื่อป้องกันไม่ให้ช้างเข้ามาในพื้นที่ชุมชน  นอกจากนี้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายังมีการทำรั้วไฟฟ้าเพื่อป้องกันไม่ให้ช้างออกมาจากแนวเขตป่ามีระยะทางประมาณ  21  กิโลเมตร ซึ่งอยู่ในพื้นที่อำเภอภูหลวง และอำเภอวังสะพุง ซึ่งในช่วง 3 ปีแรก  ก็สามารถป้องกันช้างป่าออกมาทำลายพืชผลทางการเกษตรได้ แต่ปัจจุบันได้มีช้างบางส่วนปรับตัวเรียนรู้ ได้ข้ามแนวรั้วไฟฟ้าออกมาทำลายพืชผลทางการเกษตรและออกมาหากินนอกเขตป่าอนุรักษ์  นอกจากนี้ยังมีการทำรั้วรังผึ้งในบางพื้นที่เพื่อป้องกันไม่ให้ช้างออกมาทำพืชผลทางการเกษตร  ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาได้ในระดับหนึ่งแต่ใช้ในระดับแปลงเกษตรเพื่อป้องกันตนเอง

ด้วยปรากฎการณ์ที่ช้างป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ เป็นสภาวะปกติใหม่ของพื้นที่ ที่ต้องอาศัยการทำงานในระยาวเพื่อสร้างระบบการอยู่ร่วมอย่างสมดุลในระยะยาว ทีมวิจัยชุมชนภูหลวง นำโดยสถานีวิจัยสัตว์ป่าภูหลวง ได้มีการทำงานแบบมีส่วนร่วมกับชุมชนในพื้นที่ที่มีปัญหา ด้วยการเข้าไปพูดคุยและร่วมกันจัดเวทีระหว่างชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนได้ทีมวิจัยชุมชน และกำหนดเป้าหมายร่วมในการวิจัยเพื่อพัฒนาการแก้ปัญหาช้างป่าในพื้นที่ภูหลวง โดยเน้นไปที่การพัฒนาการเข้าถึงข้อมูลสถานการณ์ได้อย่างถูกต้องและทันเวลา เพื่อให้ทุกภาคส่วนเกิดความรู้ความเข้าใจ นำไปใช้ในการวางแผนตัดสินใจเพื่อจัดการช้างป่า โดยชุดความรู้ที่จะพัฒนา ได้แก่ ชุดความรู้เฝ้าระวังช้างป่า ระหว่างชุมชนกับชุดเฝ้าระวังช้างป่าของกรมอุทยานฯ ความรู้พฤติกรรมช้างป่าเบื้องต้น พืชอาหารของช้างป่าในท้องถิ่น รวมถึงการจัดทำแผนที่การเฝ้าระวังช้างป่าในชุมชน และปฏิทินการออกนอกพื้นที่ของช้างป่า เพื่อให้ชุมชนที่อยู่รอบป่าสามารถออกแบบการเพาะปลูก การเก็บเกี่ยวพืชผล ได้อย่างเหมาะสมกับพฤติกรรมช้างป่าในพื้นที่ภูหลวง

วัตถุประสงค์โครงการวิจัย

  1. เพื่อศึกษาข้อมูลบริบท สถานการณ์และผลกระทบจากช้างป่าออกนอกพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงโดยการมีส่วนร่วมกับชุมชน
  2. เพื่อสรุปบทเรียนและองค์ความรู้ในการเฝ้าระวังช้างป่าที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยทั้งคนและช้างป่าแบบมีส่วนร่วม
  3. เพื่อศึกษาประสิทธิภาพในการปรับปรุงถิ่นที่อยู่อาศัยของช้างป่าและค้นหาแนวทางการฟื้นฟูและการจัดการถิ่นอาศัยของช้างป่าที่มีประสิทธิภาพเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงแบบมีส่วนร่วม
  4. เพื่อพัฒนาระบบการจัดการร่วมที่เหมาะสมกับสภาพบริบทชุมชน เพื่อป้องกันความเสียหายกับชีวิต  ที่อยู่อาศัยและพื้นที่เกษตรจากช้างป่า รอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง

องค์กรร่วมวิจัย

สถานีวิจัยสัตว์ป่าภูหลวง

กิจกรรมในพื้นที่