รู้จักเครือข่าย
ความเป็นมาของเครือข่ายเสียงคนเสียงช้าง ( Human and Elephant Voices Network )
ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง (Human-Elephant Conflict: HEC) คือ ปัญหาที่เกิดจากรูปแบบความต้องการของคนกับช้างป่าซ้อนทับกัน ทั้งในเชิงพื้นที่ แหล่งน้ำ และแหล่งอาหารที่เป็นพืชเกษตรของมนุษย์ ซึ่งส่งผลกระทบเชิงลบต่อทั้งคนและช้างป่า ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่ามักพบในรูปแบบของช้างทำลายพืชผลทางเกษตรและสร้างความเสียหายให้กับทรัพย์สินหรือชีวิตมนุษย์ ในทางกลับกัน ช้างป่าเองก็ได้ผลกระทบจากมาตรการป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของมนุษย์ด้วยเช่นกัน เช่น การใช้รั้วไฟฟ้าที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือการขับไล่ช้างป่าโดยใช้อาวุธปืน1 ซึ่งมีส่วนทำให้ระดับความรุนแรงของปัญหาคนกับช้างยังคงมีอยู่ จาก สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าของประเทศไทยปี 2563 พบว่า ช้างป่าล้ม 8 ตัว โดยมีสาเหตุมาจากการถูกไฟช็อต 4 ตัวและถูกยิงอีก 4 ตัว ในส่วนของคนนั้น มีผู้เสียชีวิต 8 รายและบาดเจ็บอีก 8 ราย สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการถูกช้างทำร้ายในระยะกระชั้นชิด ทำให้ไม่สามารถหลีกหนีได้ทัน นอกจากผลกระทบทางด้านร่างกายและทรัพย์สินแล้ว ปัญหาความขัดแย้งนี้ยังส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นความกลัวหรือการใช้ความรุนแรงกับช้าง ซึ่งทำให้เกิดแนวทางการจัดการที่แตกต่างกันไป ทำให้การจัดการปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า กลายเป็นปัญหาการจัดการปัญหาระหว่างคนกับคนไปด้วย ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างบูรณาการหรือมีส่วนร่วมแล้วนั้น จะก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ตามมาอีกเช่นกัน2
ด้านแนวทางการบรรเทาปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างที่ได้ดำเนินการไปแล้วมีหลายรูปแบบ และร่วมจัดทำโดยการมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการ องค์กรพัฒนาเอกชนหรือมหาวิทยาลัย และชุมชนในพื้นที่ การบรรเทาปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างในช่วงที่ผ่านมา ยกตัวอย่างการจัดตั้งกลุ่มเฝ้าระวังช้างป่า การขุดคู หรือการใช้รั้วสัญญาณเสียง ฯลฯ ในหลายพื้นที่อนุรักษ์ของประเทศไทย ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนั้นสามารถบรรเทาปัญหาลงได้บ้าง แต่กระบวนการเหล่านั้นยังขาดการตรวจสอบประสิทธิภาพของเครื่องมือ เกิดความไม่ต่อเนื่องในการจัดการ และไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานความต้องการและทุนทางสังคมที่แท้จริงของชุมชน ทำให้คณะผู้วิจัยเล็งเห็นถึงช่องว่างและการยกระดับงานวิจัยในการพัฒนางานวิจัย เพื่อตอบสนองให้ชุมชนได้ยกระดับการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า ผ่านงานวิจัยที่ชุมชน รัฐ และนักวิชาการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายทำงานวิจัยและพัฒนาร่วมกัน ในนาม “เครือข่ายเสียงคนเสียงช้าง (Human and Elephant Voices Network)” ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณในปี พ.ศ. 2564-2565 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยการจัดการปัญหานี้จะตั้งอยู่บนแนวคิด ระบบนิเวศการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่าอย่างสันติ (Human-Elephant Coexistence Ecosystem Approach) ผ่านกิจกรรม 6 ด้าน (ภาพด้านล่าง) เพื่อเสริมสร้างการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่าอย่างสันติ อีกนัยหนึ่ง คือการลดความเสียหายและลดการบาดเจ็บเสียชีวิตของทั้งคนและช้างในพื้นที่ปัญหา
วัตถุประสงค์โครงการ
1. วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้และเครื่องมือส่งเสริมการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่าอย่างสันติโดยไม่ใช้ความรุนแรง เพื่อบรรเทาปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า
2. วิจัยและพัฒนาศักยภาพชุมชนในการจัดการปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า บนพื้นฐานของต้นทุนระบบนิเวศสังคม
3. วิจัยและพัฒนากลไกและระบบติดตามการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่า (human-elephant coexistence monitoring system) พร้อมสร้างกลไกการบริหารจัดการร่วมระหว่างชุมชนและรัฐ เพื่อสร้างกลไกการปรับตัวระยะยาวให้กับชุมชนท้องถิ่น
ภาคีขับเคลื่อนงานวิจัยในเครือข่ายเสียงคนเสียงช้าง
Research partners in Human Elephant Voices Network
1. กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว
1.1 สถานีวิจัยสัตว์ป่าภูหลวง
1.2 กลุ่มอาสาเฝ้าระวังช้างป่าภูหลวง
2. กลุ่มป่าตะวันตก
2.1 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ
2.2 เขตห้ามล่าสัตว์ป่าศรีสวัสดิ์
2.3 Panthera Thailand
2.4 อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ
2.5 อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์
2.6 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
2.7 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนมิตรช้างป่าห้วยเขย่ง
2.8 มหาวิทยาลัยมหิดล
3. กลุ่มป่าแก่งกระจาน-กุยบุรี
3.1 ชุมชนบ้านรวมไทย อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
4. กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่
4.1 เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า
4.2 อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
4.3 Freeland Foundation
4.4 วิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์สัตว์ป่าวังน้ำเขียว
5. กลุ่มป่าตะวันออก
5.1 ชุมชนในตำบลพวา อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี
6. กลุ่มป่าเขาหลวง
6.1 อุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น
6.2 ชุมชนในอำเภอคลองสระ ป่าร่อนและช้างซ้าย อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
อ้างอิง