ความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าในประเทศไทย

Home / ความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าในประเทศไทย

ความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างในประเทศไทย

ความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า หมายถึง ปัญหาการสูญเสียทรัพยากรหรือชีวิตจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับช้างป่า สาเหตุของความขัดแย้งเชื่อว่ามาจากพื้นที่หากินที่เหมาะสมของช้างป่าลดน้อยลง บวกกับขอบป่าถูกล้อมไปด้วยพื้นที่เกษตรกรรมของพืชเชิงเดี่ยวเช่น ข้าวโพด มันสำปะหลังหรืออ้อย ทำให้ช้างป่าบางตัวเลือกที่จะออกมาหากินในพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่ชุมชนรอบ ๆ ป่าแทน และส่งผลให้เกิดความเสียหายทั้งพืชพรรณ ทรัพย์สินมีค่า ในหลายเหตุการณ์ก็มีทั้งคนบาดเจ็บและเสียชีวิตด้วยเช่นกัน

ความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า
พื้นที่ความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าในประเทศไทย, ที่มาข้อมูลและภาพจากพิเชฐและคณะ, 2561

สถานการณ์ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าในประเทศไทย พบมากในพื้นที่อนุรักษ์ที่มีช้างป่าอยู่ 41 แห่ง คิดเป็น 22% ของพื้นที่อนุรักษ์ทั้งหมด โดยพื้นที่ที่มีปัญหารุนแรงที่สุด คือมีทั้งคนและช้างบาดเจ็บเสียชีวิตมากที่สุดคือ กลุ่มป่าตะวันออก รองลงมาคือ กลุ่มป่าตะวันตก กลุ่มป่าแก่งกระจาน-กุยบุรี กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กลุ่มป่าเขาหลวง-เขาบรรทัด  กลุ่มป่าคลองแสง-เขาสก และกลุ่มป่าภูเขียว-น้ำเขียว

เมื่อทบทวนระดับปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าในช่วงปี พ.ศ. 2555-2561 มีเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าที่เป็นเหตุการณ์ระดับรุนแรง คือ มีคนและช้างป่าบาดเจ็บและเสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 107 เหตุการณ์ คนบาดเจ็บ 30 คน เสียชีวิต 45 คน ช้างบาดเจ็บ 7 ตัวและตาย 25 ตัว ซึ่งเมื่อดูแนวโน้มของเหตุการณ์แล้ว คาดการณ์ได้ว่าความรุนแรงมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

สาเหตุหลักที่ช้างป่าตายจากความขัดแย้งคือรั้วไฟฟ้า รองลงมาคือ ถูกรถยนต์ชนในเขตชุมชน ใขณะที่สาเหตุของช้างป่าบาดเจ็บสูงที่สุดคือ ถูกรถยนต์ชน และถูกทำร้ายในขณะที่คนกำลังผลักดันช้างออกจากพื้นที่เกษตรกรรม  สาเหตุของคนบาดเจ็บและเสียชีวิตหลัก ๆ มาจากถูกช้างทำร้ายขณะทำการผลักดัน และถูกช้างทำร้ายขณะสัญจร

อย่างไรก็ตาม แนวทางแก้ไขหรือการลดระดับความรุนแรงของปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างก็ยังคงดำเนินการอยู่ในหลายพื้นที่ โดยมีรูปแบบที่แตกต่างกันไปขึ้นกับสถานการณ์และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของพื้นที่นั้น ๆ ทั้งรัฐบาล เอกชนและชุมชนในพื้นที่ ยกตัวอย่าง การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ชมช้างป่าโดยไกด์ท้องถิ่นของอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ที่อาศัยความร่วมมือหลายหน่วยงานด้วยกัน ได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กองทุนสัตว์ป่าโลก (World Wildlife Fund, WWF) โครงการในพระราชดำริฯ และชุมชนในพื้นที่ หรือจะเป็นการลดผลกระทบจากช้างป่าทำลายพืชไร่โดยใช้รั้วรังผึ้งของสถานีวิจัยสัตว์ป่าภูหลวง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จังหวัดเลยร่วมกับชุมชนในพื้นที่

อ้างอิง
พิเชฐ นุ่นโต, ชุติอร ซาวินี, มัทนา ศรีกระจ่าง และ ชิษณุวัฒน์ มณีศรีขำ. 2561. เสียงคน เสียงช้างป่า: แนวโน้มการตอบสนองของชุมชนต่อการจัดการปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าในประเทศไทย. กองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น, กรุงเทพฯ.