ชาติพันธุ์และการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่า

หลังจากที่เวทีสาธารณะเสียงคน เสียงช้างป่าครั้งที่ 2 ได้จัดไปเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และได้ซึ่งข้อสรุป ข้อจำกัดและแนวทางเพื่อการสร้างระบบนิเวศการทำงานเพื่อการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างแล้ว  ในเดือนนี้ ทางโครงการการวิจัยและพัฒนาระบบเพื่อการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่าอย่างสันติบนฐานพลเมืองมีส่วนร่วมและงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ก็จะสานต่อภาพให้ผู้อ่านได้เห็นและรับรู้ต่อจากงานเวทีสาธารณะในแก่นเรื่อง “มองช้างเห็นคน มองคนเห็นช้าง” เพื่อให้เห็นภาพของคนที่ต้องอยู่ร่วมกับช้างในหลาย ๆ พื้นที่ โดยจะขอเริ่มต้นจากบทสัมภาษณ์ขนาดยาว ของชาวบ้านชาวมอญท่านหนึ่ง ที่นอกจากจะใส่หมวกของหัวหน้าโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่นเพื่อการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างในพื้นที่ทองผาภูมิแล้ว ยังมีหมวกของนักกิจกรรมจิตอาสาด้านวัฒนธรรมท้องถิ่นและคนชาติพันธุ์อีกด้วย  ชื่อของเขาคือ “นายประชา บ๊อบหนุก” หรือ “พี่นุ้ย”  ชาวบ้านหมู่ 3 บ้านห้วยเขย่ง ตำบลห้วยเขย่ง อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งจะช่วยสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างช้าง ชาติพันธุ์และการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่า ซึ่งเป็นความเชื่อที่ร้อยรัดกันอย่างแนบแน่นในชุมชนแห่งนี้ 

สวัสดีครับ ขอให้พี่นุ้ยแนะนำตัวเองหน่อยได้ไหมครับ เริ่มจากที่มาของนามสกุลก็ได้ครับ หลาย ๆ คนน่าจะสงสัยเหมือนกันว่า “บ๊อบหนุก” แปลว่าอะไร

พี่ชื่อ นุ้ย นายประชา  บ็อบหนุก คำว่า บ๊อบหนุก มาจากคำในภาษามอญ แปลว่า หงส์ใหญ่ ซึ่งหงส์เองก็เป็นสัตว์สัญลักษณ์ประจำชาติมอญด้วยเช่นกัน ส่วนที่มาของชีวิตพี่นั้น พี่เกิดปี พ.ศ. 2516 เกิดในไทยเขตชายแดนแถวไทรโยค ตอนนั้นก็เป็นเด็กไร้สัญชาติ ไม่ได้เรียนหนังสือ โดนผลักดันให้ย้ายถิ่นมาเพราะว่า เราไม่มีบัตรสัญชาติ เป็นคนต่างด้าว ประมาณปี 22-23 พี่อยู่ ป.4 ก็ยังไม่มีทะเบียนราษฎร์ จะเรียนต่อมัธยมก็ไม่ได้เพราะไม่มีวุฒิ คนไม่มีสัญชาติไม่สามารถออกวุฒิการศึกษาได้ คือชีวิตจะสิ้นสุดในการศึกษาแค่ระดับนั้น 

ชีวิตช่วงนั้นคือโดนผลักดัน พวกพี่หลบหนีเข้าเมือง คนอพยพหรือต่างด้าวอะไรต่าง ๆ หนึ่งในนั้นก็มีพี่อยู่ด้วย  แล้วก็ไปอยู่ในป่าใหญ่ดงดิบ ถ้าเดินจากท่าแพเนี่ย (ท่าเรือบริเวณ ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เขื่อนวชิราลงกรณ์) เดินไป 3 วันถึง ชีวิตตอนนั้นก็ไปทำเหมืองแร่ ประคองชีวิตตัวเอง ต้องหลบหนี ไม่ให้เราโดนจับ เพราะโดนผลักดัน สภาพเราเลยเป็นคนชายขอบ

ตอนนั้นในหมู่บ้านมีบ้านอยู่ 5 หลังเอง อยู่กับแม่ เจอสัตว์อะไรหมดเลย เสือ กระทิง แรด มีกบที่ร้องเหมือนหมาเลย ไก่ฟ้าพญาลอสวย ๆ ทั้งนั้นแหละ กระรอก กวาง เกวิง เจอหมด  ทำงานก็ต้องแบกแร่กลับมาขายที่ท่าขนุน ไปกลับก็ 6 วัน แต่แม่ดูแล้ว “ลูกไม่ได้เรียนหนังสือ ถ้าอยู่อย่างนี้ไม่ได้ แม่ก็เลยจับบวช” ก็บวชตอนอายุ 11 ที่วัดไผ่ล้อม เกาะเกร็ดแล้วก็นั่งเรือข้ามฟากไปเรียนที่วัดโพธิ์ เรียนอยู่หลายปี จนมาถึงอายุ 19 ก็บวชพระต่ออีกปี แม่เขานับในท้องไปอีกปีหนึ่ง ก็เป็น 20 ถึงเวลาก็เลยบวชพระเลย คือแม่รอไม่ไหว กลัวพี่ได้เมียก่อนมั้งก็เลยจับบวชพระ บวชพระที่สังขละได้ปีนึงก็สึกออกมามาทำไร่ทำสวนที่ “ปอสามต้น” จนปี 2537 ถึงได้ย้ายมาอยู่ห้วยเขย่ง

ตอนที่ย้ายมาอยู่ที่ตำบลห้วยเขย่งนั้น ก็เห็นว่าน้ำท่วมพื้นที่ข้างล่างไปหมดแล้ว พี่ไม่รู้มาก่อนว่าเขาทำเขื่อน (เขื่อนวชิราลงกรณ์หรือเขื่อนเขาแหลม) ซึ่งตามเรื่องแล้วเขาเริ่มทำเขื่อนตอนปี 2527 แต่พี่ย้ายมาอยู่นี่ตอนปี 37 ก็คือซื้อที่แค่ไร่เดียว บ้านพี่ไม่ได้รับสิทธิ์ชดเชยที่อยู่ตอนทำเขื่อน และก็ไม่มีสิทธิ์ด้วย แต่ก็ย้ายมาอยู่นี่แล้วก็รับจ้างทั่วไป จนกระทั่งโรงงานเปิดปี 39 เขาก็รับสมัครคนไปทำงาน ก็รับสมัครคนไปฝึกงานที่กรุงเทพ 30 คน เหลือกลับมาอยู่ 12 คน ด้วยความที่เราไม่มีงานทำ โอกาสมันน้อย เราก็เลยสมัคร แต่ตอนนั้นพี่ยังไม่ได้สัญชาตินะ ไม่รู้ว่ายังไง แต่เขาไม่เอาบัตรไงตอนนั้น ก็ไปฝึกอยู่ปีหนึ่ง ก็กลับมา ปี 40 ก็เปิดโรงงานแล้วได้กลับมาทำงานที่ห้วยเขย่งจนเป็นวัยรุ่นขึ้น ชอบเล่นกีฬาด้วย ตัวเองก็ไม่ได้กินเหล้าสูบบุหรี่อยู่แล้ว เลยจัดกลุ่มเยาวชน เราชอบทำกิจกรรมอยู่แล้ว ก็เป็นผู้นำเยาวชนจัดกลุ่มกีฬาต่อต้านยาเสพติด โตขึ้นมาหน่อยปี 48 มั้ง ทำศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรมมอญที่แปลง 3 พี่รวบรวมมาตอนนั้น ไฟแรง ทำท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ประเพณี 12 เดือน ก็ปัญหามันเยอะแยะมากมายก็เลยทำให้แข็งแกร่งไม่ได้ แล้วก็ได้ช่วยงานอนุรักษ์ช้างผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ก็เริ่มทำอะไรต่าง ๆ แต่ยังไม่เข้มแข็งเท่าไหร่ ทางโครงการ BRT* กับ บริษัท ปตท. มาร่วมสร้างศูนย์เรียนรู้ประมาณปี 2550 มั้ง ก็มาเจอกับพิเชฐ นุ่นโต จากกลุ่มวิจัยภูมิรู้นิเวศวิทยาและการอนุรักษ์เชิงปฏิบัติของอาจารย์สมโภชน์ ศรีโกสามาตร และกลุ่มนักวิจัย (BRT) พี่ก็ช่วยเขาอยู่เหมือนกัน ก็ได้เจออาจารย์จุฑามาศ สุคนธปฏิภาค จาก มหาวิทยามหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี เจอกลุ่มใบไม้ เขาก็มาช่วยเรา ก็ช่วย ๆ กันไปจนสื่อรู้บ้าง ก็มีชื่อเสียงกันไปในตำบลห้วยเขย่ง นั่นคือที่มาคร่าว ๆ 

*BRT ย่อมาจาก Biodiversity Research and Training Program หรือ โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพใน ประเทศไทย

กว่าจะมาถึงตรงนี้ก็ระหกระเหินมาไกลเลยนะครับ ว่าแต่ว่า พี่ต้องทำอย่างไรถึงจะได้สัญชาติมาครับ

เขามีนโยบาย มติรัฐมนตรีคือให้เด็กที่เกิดในไทยต้องได้สัญชาติไทย แต่ว่ามันก็เสียโอกาสเยอะมากเลย คือเราอายุ 30 กว่าละ มันค่อนข้างจะสายไปเยอะ เราจะไปเรียนเหมือนเด็ก ๆ ก็ไม่ได้ ก็ต้องไปเรียน กศน. (สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย) และเราก็เรียนวิชาชีพข้างนอกด้วย พี่ชอบเรียน และค้นหาสิ่งใหม่ ๆ อยู่แล้ว ไม่ชอบอยู่นิ่ง ได้เรียนการแปรรูป ผลิตภัณฑ์โอท็อปอะไรพวกนี้ จนล่าสุดก็ 3 ปีที่แล้ว พี่ก็ไปเรียนที่ศูนย์ฝึกอาชีพกรุงเทพฯ จนกระทั่งพี่ไปศึกษาที่รัฐมอญ พม่าด้วย ไปดูว่าความเป็นอยู่เขาเป็นยังไง มอญไทยกับมอญพม่าต่างกันอย่างไร ก็มีช่วงนึงที่ขาดช่วงเรื่องงานกิจกรรมแก้ปัญหาคนกับช้างที่ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลไปเหมือนกัน แต่ก็ไปศึกษาประเทศ วิถีชีวิตเขาว่าอยู่และทำมาหากินกันอย่างไร และก็หาช่องทางทำมาหากินของตัวเองด้วย 

พี่ก็เริ่มเอาคนที่นั่นมาเรียนรู้งานที่นี่ก่อน และเขาก็กลับไปเปิดธุรกิจของเขาที่นู่น เราก็ส่งวัตถุดิบให้เขา  นี่คร่าว ๆ ชีวิตพี่ และก็มาถึงเรื่องช้างก็มาเข้มข้นช่วงที่กลุ่มของทางอาจารย์สมโภชน์ ศรีโกสามาตร มหาวิทยาลัยมหิดลมาทำวิจัย มีทางพิเชฐ ลูกศิษย์อาจารย์สมโภชน์เข้ามาทำปริญญาโทกับเอก ทำงานกับชุมชน ทำวิจัยเพื่อลดปัญหาคนกับช้าง เขาประชุมพาชาวบ้านทำวิจัย เก็บข้อมูลคุยกันเรื่องช้างอยู่บ่อย ๆ ลองทำแล้ว ชาวบ้านบางส่วนก็ยอมรับ บางส่วนก็ไม่เข้ามามีส่วนร่วม จนกระทั่งเกิดงานประเพณีทำบุญให้ช้าง และสัตว์ป่าที่เกิดจากการนำเสนอความเชื่อทางด้านชาติพันธุ์ชนเผ่า โดยรวบรวมความเชื่อของพี่น้องมอญกะเหรี่ยง ทวาย ลาว และไทย มีพี่ ลุงหัด พระอาจารย์บรรเจิด เป็นตัวหลักด้านแนวคิด ส่วนด้านการจัดการเสริมแนวคิด ก็มีหน่วยงานหลายหน่วยในพื้นที่มาร่วมด้วย ทั้งมูลนิธิอนุรักษ์ฺป่าตะวันตก อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ มหาวิทยาลัยมหิดล พี่ก็ทำหน้าที่เสนอแนวคิดและความเชื่อของชาติพันธุ์ตรงนั้นจนเกิดเป็นรูปธรรม

การทำงานแก้ปัญหาคนกับช้าง ก่อนหน้านั้นก็มีการตั้งกลุ่มผลักดันและเฝ้าระวังช้างป่า และการท่องเที่ยวดูช้างป่าของกลุ่มเฝ้าระวังช้างป่าปากลำปิล็อก โดยมีน้าเป้ย (คุณทิพพะวัน บุญศรี) และแกนหนุนการทำงานคือกลุ่มวิจัยฯ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยพิเชฐช่วยหนุนการวิจัย และมีอาจารย์สมโภชน์เป็นที่ปรึกษา ทางอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิก็ร่วมหนุนตั้งแต่หัวหน้าทัศนัย เปิ้นสมุทร จนมายุคหัวหน้าเจริญ ใจชน ส่วนการท่องเที่ยวดูช้างป่าก็ร่วมกับทางรีสอร์ทในพื้นที่ ตอนนั้นพี่ก็ยังไม่ได้เข้ามาช่วยเต็มที่นะ แต่พี่ก็ช่วยจดบันทึก ร่วมประชุม ประสานงานกับชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ น้าเป้ยกับกลุ่มชาวบ้าน เขาทำงานเต็มที่ สร้างห้างเฝ้าระวังช้าง ทำโป่ง ร่วมเก็บข้อมูลวิจัยช้างเพื่อลดปัญหาช้างป่าให้ชุมชนร่วมกับทางกลุ่มวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล และมูลนิธิอนุรักษ์ป่าตะวันตก ผลจากการทำงานปัญหาก็ลดลง มีนักศึกษามาลงพื้นที่ทำงานร่วมกัน มีน้องเก่งกลุ่มใบไม้และเพื่อน ๆ มาช่วยจัดกิจกรรมสร้างการเรียนรู้เรื่องช้างป่าของเด็กในชุมชน มีพี่ริน (คุณอำพล ฐาปนพันธ์นิติกุล) มูลนิธิอนุรักษ์ป่าตะวันตกสนับสนุนการทำงานของพวกเราทุก ๆ กิจกรรม เสียดายที่วันนี้พี่รินไม่อยู่แล้ว ก็ขาดเสาหลักที่ปรึกษาที่สำคัญไป 

แล้วก่อนที่จะร่วมทำบุญช้าง พี่นุ้ยคิดยังไงถึงได้ร่วมเข้ามาทำตรงนี้

 

คือตัวช้างป่า พี่น้องมอญเขาไม่ทำร้ายช้าง ช้างของเจ้าที่เจ้าทาง เจ้าป่าเจ้าเขา เขาไม่ทำร้าย แล้วก็มีความเชื่อว่า ช้างนั้นเป็นชาติสุดท้ายของพระพุทธเจ้าก่อนที่จะเกิดมาเป็นคน  ปัญหามันเกิดในพื้นที่ เราต้องลงไปดูบ้าง ช่วยอะไรได้บ้างก็ช่วย แต่ว่าในส่วนของคนท้องถิ่นหรือว่ากลุ่มชาติพันธุ์นั้น ส่วนมากเป็นคนปลูกพืชไร่ที่ได้รับผลกระทบจากช้างเป็นส่วนใหญ่ ตอนนั้น พิเชฐ นักศึกษาจากกลุ่มภูมิรู้นิเวศและอนุรักษ์เชิงปฏิบัติก็มาลงพื้นที่ทำวิจัยทดลองแก้ปัญหาเรื่องช้าง พี่ก็ไปประชุมเข้าร่วมกิจกรรมวิจัย ลุง ๆ เขาก็พูดไทยไม่ได้ พี่ก็ไปช่วยแปล ทั้งส่วนพิเชฐ อาจารย์จุฑามาศ จากมหิดล เขาก็ช่วยส่งเสริมทั้งงานอนุรักษ์ทรัพยากร และสนับสนุนให้พี่อนุรักษ์วัฒนธรรมไปด้วยผสมผสานกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เขาหนุนพี่ พี่ก็หนุนเขา ต่างคนต่างเห็นใจกัน ต่างคนต่างผลักดันด้วยกัน  ทางอาจารย์ก็ช่วยให้มีนักศึกษาด้านการจัดการมาเรียนรู้ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม

ชาติพันธุ์ ความเชื่อและการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้าง ประชา บ๊อบหนุก

คือเห็นช่องว่างของกันและกัน ก็เลยมาช่วยกันเสริม 

ที่ผ่านมา ความเป็นชนชาติพันธุ์ คนท้องที่เขาไม่ให้ความสำคัญเท่าไหร่ นอกจากชุดของมหิดลนั่นล่ะที่มาหนุน มาเสริมส่วนนี้ เขาก็เอาอาจารย์ทางด้านท่องเที่ยว ทางด้านทำธุรกิจ จนกระทั่งนักศึกษากลุ่มนึงที่เอาความเป็นมาของศูนย์วัฒนธรรมไปประกวดด้วย แต่ก็ไม่ผ่าน มันหลายอย่าง มันคบกันแล้ว ทิ้งกันไม่ได้

พี่นุ้ยคิดยังไงถึงมาร่วมโครงการพัฒนาระบบการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างอย่างสันติครับ

ความตั้งใจแรกเลยคือการเข้ามาเพื่อหาแนวทางการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรของชุมชนว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง เพื่อลดผลกระทบจากช้างป่า โดยทำจากพืชที่ช้างป่าไม่กิน เพราะเราคุยกันช่วงพัฒนาโจทย์วิจัย ว่าจะทดลองเปลี่ยนพืชที่ช้างไม่กิน แต่เราไม่มั่นใจ และไม่มีข้อมูล เราเลยลองสำรวจก่อนว่ามีพืชชนิดไหนบ้างที่ช้างป่ากิน เป็นที่มาของโครงการการศึกษาและพัฒนาระบบการผลิต แปรรูป และตลาดของพืชท้องถิ่นแบบครบวงจรเพื่อลดผลกระทบจากช้างป่า ตำบลห้วยเขย่ง อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ก็มีทางมูลนิสืบฯ คุณปราโมทย์ ศรีใย มาช่วยเป็นพี่เลี้ยงนักวิจัย อาจารย์พีรชัย กุลชัย จากเทคโนยีลาดกระบังก็มาช่วยเราคิด เราคิดว่า ลองสำรวจพืชในท้องถิ่นที่ช้างป่าไม่กินก่อน แล้วนำพืชที่ช้างป่าไม่กินตัวนั้นมาศึกษาทดลองแปรรูป ศึกษาตลาด มานำร่องก่อน หาตลาดเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ได้ไหม เพราะว่าสินค้าบางอย่างเช่น ขมิ้น ถ้าชาวบ้านสามารถผลิต แปรรูปและขายเองได้ มันจะเพิ่มมูลค่าและกำไรให้กับชุมชนมากกว่าการผลิตแล้วส่งให้พ่อค้าคนกลาง และช่วยชดเชยพืชที่เสียไปจากช้างป่า ชาวบ้านเขาก็จะได้ปรับวิถีให้เป็นมิตรกับช้างกับคน ที่ตอนนี้คนอยู่ใกล้ช้างป่ามากขึ้น

พี่นุ้ยก็เริ่มมาเป็นหลักตั้งแต่ประมาณปลายปี 61 ใช่ไหมครับ

ก็ลองทำ ๆ มาครึ่งเทอม มีปัญหากระท่อนกระแท่นอยู่บ้าง แบบว่ามีความคิดเห็นไม่ตรงกันหรือว่ายังไงไม่รู้ หรือชาวบ้านบางคนอยากเห็นผลเร็ว ทำแล้วต้องสำเร็จ ทำแล้วต้องแก้ปัญหาได้นะ ทำแล้วได้อะไร คือความเป็นชุมชน ไปบ่อย ๆ ไม่ได้ ติดงานนู่นนี่ ช่วงหน้าฝน เข้าไร่เข้านา ปัญหาเยอะแยะ แต่ว่ายังดี พี่ก็ติดต่อกับกลุ่มเฝ้าระวังช้างป่าเดิมที่ทางมหิดลและมูลนิธิอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตกได้สานงานไว้ ประสานงานในพื้นที่ที่มีคนได้รับผลกระทบจากช้าง ประชุมแต่ละหมู่ ๆ ไปเรื่อย ๆ เขาก็โอเค พี่รับอาสาเป็นประธาน เขาก็ให้ความร่วมมือแค่วันที่ประชุมเท่านั้น แต่ว่าเขาก็ไม่สานต่อ เพราะอะไรรู้ไหม ที่เกิดปัญหาช้างตอนนี้เป็นส่วนน้อย  ไม่เหมือนแต่ก่อนที่มีผู้ประสบปัญหามากกว่านี้ หมู่บ้านในตำบลนี้มีแค่ชายขอบหมู่บ้าน คนชายขอบป่าเท่านั้นที่เป็นปัญหา ช้างไม่ได้มาใจกลางหมู่บ้านไง ก็เลยรู้สึกไกลตัวไป คนที่ไม่ได้รับผลกระทบเลยไม่ได้ให้ความสำคัญ 

ชาติพันธุ์ ความเชื่อและการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้าง ประชา บ๊อบหนุก

ปัญหาอื่นมีอีกเยอะในหมู่บ้าน ปัญหาปากท้อง พี่ดูบริบทตรงนี้ บางคนในพื้นที่ ถึงจะมีปัญหาช้างตรงชายขอบป่า ถ้าช้างไม่มา เขาก็อยู่เฉย ๆ ไม่ได้เข้าร่วม แต่ช้างมาเขาก็เข้าร่วม การเตรียมพร้อมรับมือเขาไม่มี ปัญหาคนกับช้างนี้คือ ทำแล้วอย่าไปทิ้งมัน ถ้าทิ้ง พี่ก็ทิ้งไปแล้วเหมือนกัน เราก็ไม่อยากทิ้งหรอก ทำแล้วก็ทำให้มันจบโครงการ ทำให้มันชัดเจน มันแก้ได้ขนาดไหน แก้ปัญหาคนกับช้างให้หมดไปเลยน่ะมันแก้ไม่ได้อยู่แล้ว ห้ามช้างไม่ให้มาในพื้นที่ มันไม่ได้อยู่แล้ว ใช่ไหม ชาวบ้านก็เคยเห็น เคยมีประสบการณ์มาแล้ว

คิดอย่างไรกับงานวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการอยู่ร่วมระหว่างหว่างคนกับช้าง ที่ผ่านมาช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นไหมครับ

มันก็ช่วยได้บ้างแล้ว ได้คำตอบของโจทย์ที่ว่าช้างกินหรือไม่กินพืชอะไรบ้างจากตัวเกษตรกรในพื้นที่  แล้วมาตอนนี้ก็เล็งที่จะลองเปลี่ยนพืชให้มาทดลองปลูกพืชที่ไม่ได้ผลกระทบจากช้างป่า แล้วค่อยมาหาตลาดกันต่อว่าจะทำอย่างไรกันต่อ 

แล้วชุดความคิด หรือว่าแนวคิดเป้าหมายสูงสุดของโครงการนี้คืออะไรครับ

ชาติพันธุ์ ความเชื่อและการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้าง ประชา บ๊อบหนุก

อยู่ร่วมกัน อยู่ยังไง อยู่กันให้ได้โดยที่ช้างก็อยู่ได้ คนก็อยู่ได้ เพราะว่าช้างออกกลางคืน ช่วงกลางคืนคนก็นอนละ ช่วงที่ปลูกพืชที่เสี่ยงต่อช้างมากิน ช้างก็มากินละ คนก็ต้องมาเฝ้า ก็เกิดปัญหา คนเฝ้าระวังช้างก็ต้องทำความเข้าใจด้วย  เราต้องการให้ชุมชนเปลี่ยน ปรับพืชที่มีอยู่แล้ว คือเราไม่ต้องเฝ้าระวัง คือช้างมาก็มา กินนิดหน่อย เหยียบไปกินไปนิดหน่อย แต่ว่าของฉันก็คือยังคงเหลือเยอะอยู่ อันนั้นคือจุดมุ่งหมายว่าช้างมาได้ แต่ฉันก็อยู่ได้ ไม่ได้หมายถึงว่ามาอยู่ในบ้านเดียวกันได้นะ คุณก็อยู่ส่วนของคุณไป คืออยู่ระแวกชายขอบป่าในไร่ฉัน ฉันก็ทำไร่ เก็บของป่าหากินไปตามวิถีเรา

ชาติพันธุ์ ความเชื่อและการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้าง ประชา บ๊อบหนุก

คือคนเขามอง เห้ย ช้างมากินพืชไร่ ฉันปลูกไว้นะ แต่พอคนเข้าไปหากินในเขตอุทยาน ในพื้นที่ส่วนของช้าง ทำไมคนเข้าได้ ทำไมช้างไม่โวยวายล่ะ แบบเข้าไปเก็บเห็ดป่าอะไร ทำไมล่ะ มันต้องแบ่งปันกัน เราต้องมองมุมมองแบบนี้ เจ้าของพื้นที่ที่ดูแลสัตว์ป่าคือกรมอุทยานแห่งชาติฯ เป็นพื้นที่ของอุทยาน คนก็คือมีโฉนด มี ส.ป.ก. (เอกสารสิทธิให้ประชาชนเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน เริ่มขึ้นเมื่อมีพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518) มีพื้นที่ของตัวเอง คนข้ามไปเขตอุทยานมันก็ไม่ได้ มันผิดกฎหมายอยู่แล้ว คุณผิดไหม ? แล้วช้างมา ช้างผิดไหม ยังเป็นคำถาม เราก็ต้องพึ่งพากัน ทำความเข้าใจ 

ในส่วนของงานวิจัยที่ปรับวิถี ตอนนี้ได้พัฒนาการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากพืชที่ช้างป่าไม่กิน หาตลาด อบรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ทั้งกาแฟ ขมิ้นและพริกไท ก็เป็นการเรียนรู้ร่วมกัน แปรรูปจากพืชที่ช้างไม่กิน จะทำขายยังไง ทำง่าย ๆ อย่างนี้ เราก็ทำได้นี่ เราก็ทำสติ้กเกอร์ ทำไม้แขวน เราก็ทำให้เขาเห็นได้ ทำแคปซูลขมิ้น ที่ขายตามท้องตลาดแต่ต้องได้มาตรฐาน กาแฟแพคเกจจิ้งสวย ๆ เราคั่วเอง เราก็ทำได้ อันนี้คือทำให้เขาเห็น ให้เขามีความหวัง ให้เขามีแรงจูงใจ ปรับตัว จริง ๆ ชาวบ้านชุดนี้ ถ้าช้างมาเขาก็อยู่ได้แหละ ไม่จำเป็นต้องไปแตะต้องเรื่องช้างเลย กล้าพูดได้เลยว่า กลุ่มชุดนี้เขาปรับตัวเขาเองอยู่แล้ว 

คือคนกลุ่มนี้เขาปรับตัวเอง สามารถไล่ช้างด้วยตัวเองได้อยู่แล้ว อยู่ด้วยตัวเอง ไม่ต้องพึ่งใครก็ได้ 

ใช่ โดยที่เขาไม่ต้องไปไล่ช้างก็ได้ เพราะว่าพืชที่เอามาเนี่ย มันไม่ได้เสียหายไง เพราะเป็นพืชที่่ช้างไม่กิน เขาไม่ได้ตั้งการ์ดป้องกันด้วยว่าช้างจะมาทำอะไร แล้วต้องไปล้อมรั้วล้อมอะไรมากมาย

ในแง่ของความสำเร็จของโครงการ ก็พอเห็นภาพว่ากำลังเดินต่อไปได้ และที่มองว่าจะทำต่อก็คือการทดลองปลูกพืชชนิดใหม่ดูด้วย เปรียบเทียบว่าจะเป็นยังไงบ้าง และดูว่าจะหาตลาดจากไหนใช่ไหมครับ 

ปลูกอะไรก็ได้ที่ช้างไม่กิน แต่ว่าเรื่องตลาดก็ยังไปไม่สุด เรื่องการแปรรูป พี่ไม่กลัวหรอก พี่กลัวด้านการตลาด บริษัทใหญ่ ๆ กับเราเล็ก ๆ เนี่ย บริษัทใหญ่เขาอยู่ ขายชิ้นละสลึงเขาอยู่ได้ละ ผลิตทีเป็นล้าน ๆ เป็นหมื่นชิ้น เราจะไปแข่งได้หรอ เราแข่งไม่ได้หรอก ก็ต้องค่อย ๆ หาช่องทางกันไป

ทีนี้คือเข้าใจภาพคร่าว ๆ แล้วว่าตัวพี่นุ้ยกับโครงการมีที่มาที่ไปอย่างไร แล้วอย่างนี้ ตัวโครงการเองมีคนชาติพันธุ์อยู่บ้างไหมครับ

ชาติพันธุ์มี แต่ว่าถ้าทำโครงการร่วมกับทางหน่วยงานราชการและส่งงานเขาเนี่ย คนที่ไม่มีบัตรก็ลำบากอย่างลุงหัด เป็นชาวกะเหรี่ยง เขาไม่มี แต่เขาก็มาร่วมด้วย อย่างน้ากิจ เขาคนไทย เขามีบัตร ก็โอเค 

คือไม่ใช่คนชาติพันธุ์ทุกคนจะได้บัตรประชาชนใช่ไหม 

ใช่ บางคนก็คนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง มอญ แต่สัญชาติไทย แต่ว่าถ้าเข้าร่วมโครงการไม่ว่าจะเป็นโครงการอะไรของรัฐก็ตาม ต้องมีบัตรไทยหรือบัตรประชาชน สัญชาติไทย เชื้อชาติอะไรก็ได้ และต้องมีชื่อในทะเบียนราษฎร์

เวลาเกิดปัญหาช้างป่ากับกลุ่มคนชาติพันธุ์ เขาทำไร่ทำนา ช้างเข้ามากินของเขา มีใครมาช่วยอะไรไหมครับ 

ตามกฎหมายน่ะไม่มีอยู่แล้ว แต่ว่าในภาคปฏิบัติ ไม่เกี่ยวกับกฎหมาย ไม่เกี่ยวกับหน่วยงาน เราให้เสมอภาคหมดในแง่การช่วยเหลือกันของคนในชุมชน หากมีค่าตอบแทนเราส่งหนังสือก็ต้องเอาตามรายชื่อคนที่อยู่ในทะเบียนราษฎร์ถึงจะได้สิทธิ์กันครับถ้วน เราก็อยากให้เสมอภาคนะ อย่างลุงหัด ที่เป็นคนกะเหรี่ยง ไม่มีบัตร เราก็พยายามหาส่วนที่ตอบแทนเขาได้  ตามกฎหมายถ้ามีชื่อลุงหัด มันก็ไม่ได้ละ เห้ยบัตรต่างด้าวเอาได้ไง แต่ในทางปฏิบัติเราต้องทำให้ทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน เช่น การทำงานเราไม่แบ่งกลุ่มคนชาติพันธุ์กับคนมีสัญชาติในการทำงานแก้ปัญหา หรือทำงานวิจัย

แล้วการที่มีคนชาติพันธุ์อยู่ในโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่น พี่นุ้ยคิดว่ามีผลต่อโครงการอย่างไรครับ

พี่มองว่า คนที่ใช้แรงงาน คนใช้พื้นที่หรือเช่าที่ จะทำอย่างไรให้เขาเข้าใจว่ากระบวนการแก้ปัญหาเป็นอย่างไร ทั้งจากงานวิจัยและจากการพูดคุยกัน อย่างของทางท่าขนุนที่ปลูกมัน ปลูกข้าวโพด คนชาติพันธุ์เยอะมากเลย แต่อยากให้เขารู้ว่าเขาน่าจะเลือกปลูกอย่างอื่นได้ มีทางเลือก ปลูกพืชที่ช้างไม่กิน มีตลาดรองรับ มันน่าจะช่วยลดผลกระทบจากช้างป่ากินพืชไร่ได้มากขึ้นเยอะ

ถ้าอย่างนี้ ในฐานะที่พี่นุ้ยเป็นคนชาติพันธุ์ กว่าจะได้มาซึ่งบัตรประชาชน กว่าจะได้ทำงาน ได้สิทธิ์ต่าง ๆ พี่นุ้ยมองการจัดการในอนาคต หรือมองว่ามันพอจะมีแนวทางไหนไหมที่จะช่วยลดปัญหาสิทธิของคนชาติพันธุ์ต่อด้านความเป็นอยู่ในพื้นที่บ้าง ทั้งในเรื่องช้างและเรื่องอื่น ๆ ด้วย

ต้องแยกประเด็นก่อน ชาติพันธุ์ทำยังไงให้อยู่ได้ ตราบใดที่เขาไม่มีสัญชาติ เขาก็มีปัญหาในตัวเขาตลอดจนตายในทางกฎหมาย แต่ถ้าเขาได้บัตรประชาชนไทยเมื่อไหร่ สิทธิ์เขาได้เสมอภาคคนไทย คือเสมอภาคหมด แม้เขาจะไม่เล่นการเมือง แต่ก็เสมอภาคหมด แต่ตราบใดที่คนชาติพันธุ์ เขาไม่ได้สัญชาติไทย อย่าไปหวังให้เขาได้สิทธิต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิ์ด้านการศึกษา จะเข้าถึง มันก็ได้อยู่แต่ก็กู้เงินมาเรียนไม่ได้ ทำให้เสียโอกาสเรียนไป สิทธิ์ในการรักษาพยาบาล บางคนเข้าถึง บางคนก็เข้าไม่ถึง อันนี้ก็อยากฝาก ให้คนได้เป็นทะเบียนราษฎร์ แต่ด้วยหลายปัจจัยที่ผ่านมา ก็ต้องพูดตรง ๆ ว่าใครมีเงินก็ได้ มาจากนอกก็ได้ เหมือนกับว่าคนที่นี่ เกิดที่นี่ทำไมไม่ได้ บางคนมาจากที่อื่นพูดไทยยังไม่ได้ทำไมถึงได้ อันนี้คือการปฏิบัติ มันเหลื่อมล้ำ มันแก้ไม่ได้ คือจิตใต้สำนึกบางคน หน่วยงานรัฐ หน่วยงานอะไรต่าง ๆ เราต้องแยกประเด็น

ส่วนถ้าประเด็นช้าง ต้องร่วมสำนึกด้วยกัน ปลูกฝังจิตอาสาให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะเยาวชน ต้องเข้าปลูกฝังเยอะ ๆ และก็หาทางแก้กันอย่างจริงจัง จริงใจ แม้กระทั่งหน่วยงานรัฐบางครั้งก็ไม่จริงใจ ก็พูดตรง ๆ พี่ก็ไปประชุม บางครั้งอะไรยังไง หน่วยงานด้านจัดการป่าไม้ทรัพยากรไม่จริงจัง งบประมาณรัฐมีเยอะ ฉันจะเจียดให้ชาวบ้านได้ยังไง จริง ๆ แล้วควรแบ่งมาให้ชาวบ้านช่วยกันคิดกันทำบ้าง 

ชาติพันธุ์ ความเชื่อและการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้าง ประชา บ๊อบหนุก

น่าจะเอามาจัดการร่วมกันอะไรมากกว่านี้หรือเปล่าครับ ในความหมายของพี่นุ้ย

พี่เห็นทำขุดลอก ทำเสา ทำนู่นทำนี่ รัฐมีงบประมาณเยอะแยะ แล้วทำไมไม่เจียดให้ชาวบ้านลองทำ ลองปรับเปลี่ยนอะไรแบบนี้บ้าง คิดให้ดี แล้วก็มาฟังเสียงชาวบ้านบ้าง ทำจริงจัง เอาเงินโครงการร้อยล้าน ลองเจียดมาสักสิบล้าน ลองมาสนับสนุนศึกษาหาแนวทางมาปรับเปลี่ยนวิถีเกษตร และมีตลาดรองรับ ที่ทองผาภูมิก็มีการเกษตร ก็เอาระบบน้ำ ระบบเกษตรหรือหน่วยงานอะไรมาช่วยกัน เกษตรก็ช่วยได้ เกษตรก็ไม่ลงมา  คือเขาก็มา แต่ไม่ได้คิดในการช่วยแก้ปัญหาช้าง แต่มาช่วยในการส่งเสริม แต่การแก้ปัญหาเนี่ยเขายังมองไม่เห็น ไม่อยู่ในแผนเขา ยกตัวอย่างการเยียวยาภัยแล้งให้กับมันสำปะหลัง มีเงินชดเชย แต่ในกรณีช้างป่าก็ยังไม่มี คือทุกวันนี้ ชาวบ้านเดินลำพัง ทั้งคนไทยและก็คนชาติพันธุ์ด้วย นอกจากจะมีจิตอาสาหรือโครงการอื่น ๆ ที่ช่วยกัน แต่มันไม่ใช่หน่วยงานรัฐบาลโดยตรงที่ขอมาทำตรงนี้ ไม่ได้มาช่วยโดยตรงกับการแก้ปัญหาช้างกับคนปลูกพืชไร่ มันเยอะน่ะ เวลาแบบกรมอุทยานฯ บอกว่าไม่ใช่พื้นที่รับผิดชอบของฉัน แต่เป็นของกระทรวงมหาดไทย ชาวบ้านก็เดือดร้อน เพราะทำอะไรไม่ได้สักที ไปได้ไม่ไกลนะ ถ้าเสียงถึงก็ฝากบอกว่าชาวบ้านไปได้ไม่ไกลนะ ก็อ่อนล้าบ้างล่ะ ก็ต้องหยุดพัก คนที่จะขึ้นมารุ่นใหม่เนี่ยจะมีจิตอาสาได้สักกี่คน มีเพชรเม็ดงาม ๆ ได้สักคนสองคนก็ต้องดูต่อไป นักการเมืองเองก็ต้องมีสามัญสำนึกเหมือนกัน

แล้วอย่างนี้ พี่นุ้ยได้มองเด็กรุ่นใหม่กับความหวังเรื่องการทำงานสาธารณะเรื่องชาติพันธุ์หรือเรื่องช้างไว้บ้างไหมครับ 

ก็หวังลึก ๆ แต่เราก็คือหวังไม่ได้เต็มที่ เขามีตัวตน มีเส้นทางของเขาตรงนั้น เขาไม่มาจมปลักกับเรา ไม่มีรายได้ ไม่มีอะไรชัดเจน ก็เข้าใจได้ คนเราก็ต้องมีครอบครัว มีอนาคต ต้องมีเงิน แต่งตัวหล่อสวยนะ มีรถมีบ้านอะไรเนี่ย เพื่อให้เข้ากับสังคมทั่ว ๆ ไป นี่คือมุมมองของพี่

ด้วยระยะเวลาที่จำกัดแต่ก็ได้สาระอันหนักอึ้งอยู่พอตัวที่มาจากทั้งประสบการณ์ชีวิตและการทำงานของพี่นุ้ย ทำให้เราสามารถมองเห็นภาพคร่าว ๆ ของระบบนิเวศที่มีช้างและมีคนอยู่นั้นยังมีระบบย่อย ๆ อีกมากที่มีความสำคัญต่อภาพรวมการแก้ปัญหา ซึ่งหนึ่งในที่นี้ก็คือกลุ่มคนชาติพันธุ์ที่ยังไม่ได้สัญชาติและขาดสิทธิ์ที่ประชาชนชาวไทยพึงมีหลายอย่างไป ไม่ว่าจะเป็นด้านการเข้าถึงการศึกษา หรือการเยียวยาผลกระทบจากช้างป่า หากคนกลุ่มนี้ได้รับสิทธิ์ตามที่เขาพึงมีแล้ว เขาเหล่านี้ก็น่าจะมีส่วนช่วยเหลือในงานอนุรักษ์ที่จะยังประโยชน์ให้ทั้งคนและช้างป่าสืบต่อไป

หากผู้อ่านสนใจเรื่องราวของเสียงคน เสียงช้างป่า อย่าลืมกดติดตามที่
Facebook Fanpage: www.facebook.com/humanelephantvoices