ค่าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต
บาดเจ็บสาหัส (รักษาตัวใน รพ.ติดต่อกัน 3 วันขึ้นไป) ช่วยเหลือเบื้องต้นรายละ 4,000 บาท
บาดเจ็บถึงขั้นพิการ (ไม่สามารถประกอบอาชีพตามปกติได้) ช่วยเหลือเบื้องต้น 13,300 บาท
กรณีสาธารณะภัยขนาดใหญ่หรือรุนแรง ต้องรักษาตัวในสถานพยาบาล จ่ายเงินหรือสิ่งของปลอบขวัญรายละไม่เกิน 2,300 บาท
คำจัดการศพผู้เสียชีวิต รายละไม่เกิน 29,700 บาท
เงินสงเคราะห์ครอบครัว กรณีหัวหน้าครอบครัวหรือผู้หารายได้เลี้ยงดูครอบครัวเสียชีวิต สงเคราะห์ครอบครัวอีกไม่เกิน 29,700 บาท
เงินช่วยเหลือกรณีพื้นที่เพาะปลูกเสียหายไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่พืชไร่และพืชผัก ไม้ผล ไม้ยืนต้น และอื่นๆ
ข้าวไร่ละ 1,340 บาท
พืชไร่และพืชผักไร่ละ 1,980 บาท
ไม้ผล ไม้ยืนต้น และอื่นๆ ไร่ละ 4,048 บาท
ที่ผ่านมา แนวทางการชดเชยเยียวยาจากทางภาครัฐมีหลักเกณฑ์ตามที่กล่าวมาข้างต้น และมีกองทุนช่วยเหลืออาหารช้างป่าแห่งประเทศไทย ที่ดำเนินการโดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งมีเบิกจ่ายเยียวยาประชาชนระหว่างปี พ.ศ. 2555-2558 แต่หลังจากปี พ.ศ. 2559 จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการเยียวยาเนื่องจากงบประมาณไม่เพียงพอ และอยู่ระหว่างการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้มีการเบิกจ่ายได้
มาตรการเยียวยาต่างๆที่ผ่านมาได้มีความพยายามปรับให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น แต่ยังไม่สามารถตอบสนองกับความรู้สึกสูญเสีย และความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงจากพฤติกรรมของช้างป่าที่มีรูปแบบการกินที่สร้างความเสียหายต่างจากภัยธรรมชาติทั่วไป ซึ่งมักเป็นความเสียหายแบบสะสมตลอดฤดูกาล เสียหายแบบไม่ถาวร หรือไม่สิ้นเชิง แต่ส่งผลต่อปริมาณการเก็บเกี่ยวหรือพืชให้ผลผลิตไม่ได้ ซึ่งทำไม่สามารถขอรับการชดเชยได้ตามหลักเกณฑ์ของการเยียวยา ซึ่งทางทีมวิจัยเครือข่ายเสียงคนเสียงช้าง เห็นช่องว่างการเยียวยา ที่เกษตรกรหรือชุมชนยังเห็นว่าไม่เป็นธรรมและไม่สอดคล้องกับรูปแบบพฤติกรรมการทำลายของช้างป่า เช่น
– ความเสียหายจ่าย 30 ไร่ มากกว่านี้ ยังไม่มีหลักเกณฑ์เยียวยา ซึ่งฝูงช้างป่าหรือสัตว์ป่า อาจทำลายมากกว่า 30 ไร่ ภายในคืนเดียว หรือ สะสมมากกว่า 30 ไร่
– ต้องเกินหนึ่งไร่ขึ้นไป เสียหายน้อยกว่านี้ ยังไม่มีหลักเกณฑ์เยียวยา
– ต้องเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นครั้งเดียว ความเสียหายหลายครั้งรวมครบหนึ่งไร่ ยังไม่มีหลักเกณฑ์เยียวยาเช่น ช้างกินวันนี้แต่ครึ่งไร่ สองเดือนมากินอีกครึ่งไร่ ความเสียหายที่เกิดขึ้นลักษณะนี้ ยังไม่มีหลักเกณฑ์เยียวยา
– ความเสียหายต้องถาวร ไม่ถาวร ยังไม่มีหลักเกณฑ์เยียวยา เช่น ช้างมากินกล้วย กัดกินเหลือโคนต้นแต่ไม่ตาย หากเจ้าหน้าที่เกษตรมาตรวจสอบเจอต้นอ่อนงอกออกมา ไม่เข้าหลักเกณฑ์ ไม่เสียหายถาวร ช้างต้องถอนรากต้นกล้วย (เพื่อให้ต้นตาย) และต้องถอนให้ครบทุกต้นใน 1 ไร่ จึงจ่ายเงินเยียวยาได้
ส่วนการเยียวยานอกเหนือจากนี้ เป็นหน่วยงานและเอกชนในแต่ละท้องถิ่นบริหารจัดการกันเอง เช่น บางพื้นที่ที่หน่วยงานและเอกชนเอาใจใส่ก็มีการช่วยเหลือประชาชนที่เป็นรูปธรรม แต่บางพื้นที่แทบไม่มีการชดเชยใดๆ หรือบางพื้นที่การชดเชยเยียว เป็นไปอย่างชั่วคราวเพราะเงินบริจาคหมดไป ปัญหาความไม่ชัดเจนนี้ ทำให้เกิดการช่วยเหลือเยียวยาไม่ทั่วถึงครอบคลุมทุกพื้นที่อย่างเท่าเทียม จึงเป็นปัญหาที่ต้องนำเสนอเพื่อแก้ไขในทางกฏหมายและหลักเกณฑ์ปฏิบัติของกระทรวงที่เกี่ยวข้องต่อไป
หรือถึงเวลาแล้วที่ต้องให้ปัญหาช้างเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาช้างป่าเกิดการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน และดูแลประชาชนได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ภายใต้หลักเกณฑ์ที่เป็นธรรม
อ้างอิง
กองช่วยเหลือผู้ประสบ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย. 2564. หลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564. แหล่งที่มา: (22 พฤศจิกายน 2564)
กระทู้ถามที่ 146 ร. เรื่อง ขอให้รัฐบาลกำหนดระเบียบ หลักเกณฑ์ และแนวทางการเยียวยาและการจ่ายค่าชดเชย กรณีปัญหาช้างป่าบุกรุกทำลายร่างกาย ชีวิต ทรัพย์สินและพืชผลทางการเกษตรของราษฎร อย่างเป็นธรรม ในพื้นที่อำเภอเขาชะเมา อำเภอวังจันทร์ และอำเภอแกลง จังหวัดระยอง. 2563. (2563, 15 ธันวาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 137 ตอนพิเศษ 291. หน้า 65-71.
หลักเกณฑ์นี้ให้ใช้บังคับวันที่เกิดภัย ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564
ให้ยกเลิก หลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2556.
ผู้เขียน
อัจฉรา อิงคามระธร และ เอื้อการย์ อารามรักษ์