การอนุรักษ์ที่เป็นธรรม
แปลและสรุปเนื้อหาจากเวทีเสวนา Darwin x Nbs Talk series Episode 1: Toward fairer conservation โดย Dr. Lucy J. Archer เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2566 จัดโดย สมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน ประเทศไทย (Zoological Society of London, Thailand) เครือข่ายเสียงคนเสียงช้าง และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร สนับสนุนโดย Darwin Initiative
ทำไมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถึงต้องมีความเป็นธรรม (fairness)
หากจะตอบคำถาม จำเป็นต้องยกประวัติศาสตร์และกระบวนการเติบโตขององค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติมาพูดถึงก่อน ย้อนเวลาไปในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 11 หลักคิดของการอนุรักษ์ธรรมชาติ ณ เวลานั้นจะเน้นการแบ่งแยกพื้นที่ระหว่างธรรมชาติ (Nature) และมนุษย์ (People) ออกจากกันโดยสิ้นเชิง ก่อให้เกิดเขตพื้นที่อนุรักษ์ขึ้นมา การเข้าไปล่าสัตว์หรือเก็บเกี่ยวทรัพยากรธรรมชาติจากพื้นที่อนุรักษ์ถือเป็นเรื่องต้องห้าม รูปแบบการอนุรักษ์แบบนี้เริ่มแพร่หลายในศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับยุคล่าอาณานิคมของคนผิวขาว การอนุรักษ์เชิงพื้นที่นี้ สามารถป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่าได้จริง แต่ก็ละเมิดสิทธิ์ของชุมชนดั้งเดิมและละเลยความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ มีตัวอย่างการปักเขตอุทยานแห่งชาติในทวีปแอฟริกาตอนล่างและตะวันออก ที่กันไม่ให้คนท้องถิ่นเข้ามาในพื้นที่ ออกกฎหมายห้ามล่าสัตว์หรือเก็บของป่าทั้ง ๆ ที่เป็นวิถีชีวิตของคนพื้นถิ่น ในขณะที่คนผิวขาวหรือชนชั้นสูงจากทวีปยุโรปสามารถเข้ามาล่าสัตว์ได้และมองว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ รูปแบบการอนุรักษ์แบบนี้ มีอีกชื่อหนึ่งคือ “การปกครองจากบนลงล่าง (Top-down fortress models)” และยังเป็นที่นิยมมาจนถึงศตวรรษที่ 20
เวลาผ่านไป หลักคิดในการอนุรักษ์ธรรมชาติก็เปลี่ยนแปลงไป คนท้องถิ่นเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและอนุรักษ์มากขึ้น ชุมชนในพื้นที่สามารถเข้ามาร่วมตัดสินใจในกระบวนการและกิจกรรมอนุรักษ์ธรรมชาติที่จัดโดยหน่วยงานหรือองค์กรอนุรักษ์ในพื้นที่ ทำให้การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเชื่อมโยงกับสิทธิ์และความรู้ รวมถึงความต้องการของคนท้องถิ่นมากขึ้น นอกจากนี้ การอนุรักษ์รูปแบบนี้ยังเน้นให้เห็นว่าธรรมชาติสามารถสร้างประโยชน์ให้กับทั้งตัวธรรมชาติเองและคนที่อยู่ในธรรมชาตินั้น ๆ อีกด้วย หรือที่เรียกว่า นิเวศบริการ (Ecosystem services) เช่น ป่าไม้สามารถเป็นแหล่งอาหารให้ชุมชน ป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือเป็นแหล่งท่องเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี การอนุรักษ์ธรรมชาติในปัจจุบันก็ยังพบได้หลายรูปแบบอยู่เหมือนเดิม แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ก็คือปัญหาความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานอนุรักษ์และชุมชนในพื้นที่ ปัญหาด้านการอนุรักษ์โดยมากแล้วจะเป็นปัญหาของคน ไม่ว่าจะเป็นความไม่ลงรอยกันด้านที่ดิน การเก็บหาทรัพยากรธรรมชาติตามฤดูกาล หรือแม้กระทั่งปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่า หากไม่มีการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ การอนุรักษ์น่าจะไปต่อได้ยาก แล้วทีนี้ การจะอนุรักษ์ธรรมชาติที่จะให้เป็นธรรมต่อทั้งคนและธรรมชาตินั้นจะทำได้อย่างไร
การอนุรักษ์ที่เป็นธรรม เป็นอย่างไร
ข้อแนะนำจากประสบการณ์และการทำงานของ Dr. Lucy J. Archer นักวิทยาศาสตร์เชิงสังคมและการอนุรักษ์จาก Zoological Society of London (ZSL) จากเวทีเสวนา “การอนุรักษ์อย่างเป็นธรรม” เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2023 มีดังนี้
1. ต้องเรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์ของชุมชนในพื้นที่ รวมทั้งความรู้ ภูมิปัญญาและรูปแบบสังคมในพื้นที่
2. เป็นคนที่ยืดหยุ่น นอบน้อม เปิดกว้าง สามารถปรับตัวและเรียนรู้สิ่งใหม่ได้ ทั้งในเรื่องของความรู้และมารยาทสังคมในพื้นที่นั้น ๆ
3. ใช้การบูรณาการของความรู้จากหลายสาขาวิชาเพื่อระบุปัญหาที่พบและแก้ไขปัญหาดังกล่าว
4. ให้ความคุ้มครองต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมในพื้นที่นั้น ๆ หรือการจัดการความเสี่ยงจากกิจกรรมอนุรักษ์ที่จะเกิดขึ้น
5. ดูแลความปลอดภัยและสุขภาพของคนชุมชน รวมทั้งดูแลพฤติกรรมของบุคคลที่ทำงานในพื้นที่
ZSL’s FAIRER Conservation Programme
Dr. Lucy ได้เสนอหลักของโครงการการอนุรักษ์ที่เป็นธรรมที่เน้นการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและให้ความสำคัญกับชุมชนท้องถิ่นและสถานที่นั้น ๆ โดยตัวโครงการมีชื่อว่า “ZSL’s FAIRER Conservation Programme” ที่ประกอบไปด้วยคำสำคัญ 6 คำตามตัวอักษร FAIRER ได้แก่
1. Fair เป็นธรรม
2. Accountable น่าเชื่อถือ
3. Inclusive เป็นส่วนรวมและมีส่วนร่วม
4. Respectful เคารพต่อกัน
5. Ethical มีจริยธรรม
6. Reflective มีการสะท้อนกลับ
กรอบงานของการอนุรักษ์ที่เป็นธรรม (FAIRER Conservation Framework) มี 3 ด้านในการทำโครงการ ได้แก่
1. Environmental and social safeguard (ESS) คือการจัดกิจกรรมที่ให้ความปลอดภัยต่อทั้งทรัพยากรธรรมชาติ สภาพสังคมและชุมชนในพื้นที่ดำเนินการ
2. Fairer learning plan การส่งเสริมการเรียนรู้ศาสตร์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ รวมไปถึงเทคนิคการดำเนินโครงการและการดูแลความสัมพันธ์ของชุมชน เพื่อให้การจัดการนั้นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
3. Fairer policy การมีนโยบายหรือเป้าหมายและจุดยืนในระดับองค์กรที่จะทำงานในพื้นที่อย่างชัดเจน เพื่อให้ชุมชนหรือพื้นที่เข้าใจจุดมุ่งหมายและการดำเนินการของโครงการว่าจะทำอะไร ทำอย่างไร และคาดหวังผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นได้ว่าอย่างไร
นอกจากนี้ หากต้องการอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Fairer Conservation สามารถหาอ่านบทความตีพิมพ์ของ Dr. Lucy และคณะได้ที่ลิ้งนี้ “Toward fairer conservation: Perspectives and ideas from early-career researchers (Archer et al, 2022)” และเว็บไซต์ “Fairer Conservation Future”
โดยภาพรวม การอนุรักษ์ที่เป็นธรรม จะทำให้มีประสิทธิภาพได้นั้นจำเป็นต้องมีองค์ความรู้หลายด้านประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ วิทยาศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์เพื่อใช้บูรณาการในการระบุและแก้ไขปัญหาร่วมกัน อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญก็คือ บุคคลหรือหน่วยงานอนุรักษ์ที่ทำงานในพื้นที่ดังกล่าวนั้น จำเป็นต้องเปิดใจ (open-mindedness) เอาใจเขามาใส่ใจเรา โปร่งใส ดูแลอย่างทั่วถึงและรอบด้าน เพื่อที่จะสามารถดำเนินโครงการอนุรักษ์ที่ยั่งยืนต่อทั้งคนและทรัพยากรธรรมชาติต่อไปได้