เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ

Home / เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ

การศึกษาแนวทางการป้องกัน และลดผลกระทบจากช้างป่า
ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม บริเวณพื้นที่รอบแนวเขตด้านตะวันตก
ของเขตรักษาพันธุสัตว์ป่าสลักพระ จังหวัดกาญจนบุรี

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระได้รับการประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งแรกของไทยเมื่อวันที่ 31  ธันวาคม พ.ศ. 2508 ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 858.55 ตารางกิโลเมตร หรือ 536,594 ไร่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระตั้งอยู่ในเขตจังหวัดกาญจนบุรี บริเวณรอยต่อของอำเภอเมืองกาญจนบุรี อำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอบ่อพลอย และอำเภอหนองปรือ

อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของกลุ่มป่าตะวันตก (Western Forest Complex: WEFCOM) ซึ่งพบว่าช้างป่าสลักพระมีจำนวนอย่างน้อย 200  ตัว และมีแนวโน้มจำนวนประชากรช้างป่าจะเพิ่มขึ้น ในขณะที่พื้นที่อาศัยมีขนาดเท่าเดิม

 

การตั้งถิ่นฐานและขยายตัวของชุมชนรอบพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ  โดยเฉพาะด้านตะวันตกได้เปลี่ยนสภาพป่าเป็นพื้นที่เกษตรกรรมพืชเชิงเดี่ยว เช่น อ้อย มันสำปะหลัง มะละกอ มีหมู่บ้าน โรงเรียน โรงพยาบาล โรงแรม รีสอร์ต ซึ่งในอดีตพื้นที่เหล่านี้เป็นด่านช้างที่ลงไปแม่น้ำแควใหญ่เพื่อข้ามไปยังอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำ

การขาดแคลนแหล่งน้ำในป่าสลักพระ ขณะที่มีแหล่งน้ำของชาวบ้านดึงดูดให้ช้างออกมานอกพื้นที่ รวมทั้งจำนวนประชากรช้างป่าที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ด้วยผลกระทบจากช้างป่าจึงมีชุมชนที่เข้าร่วมงานวิจัย ได้แก่

ชุมชนบ้านท่ามะนาว
ตำบลวังด้ง อำเภอเมือง จ.กาญจนบุรี

ชุมชนตั้งอยู่ที่ราบลุ่มเชิงเขา มีแม่น้ำไหลผ่านกลางหมู่บ้าน ชุมชนมีพื้นที่ติดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ราว 7 กิโลเมตร โดยชาวบ้านนิยมปลูกพืชไร่ เช่น อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง รวมทั้ง มะละกอ กล้วย และพืชผักสวนครัว ช้างป่าจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระจะใช้เส้นทางเดินที่เคยใช้มาแต่อดีตออกมาหาแหล่งน้ำโดยเฉพาะในหน้าแล้ง ซึ่งเดินทางผ่านมาประจำทุกปี และแวะเวียนเข้ามาหากินในพื้นที่ของชุมชน

ชุมชนบ้านโป่งหวาย ตำบลด่านแม่แฉลบ
และ ชุมชนบ้านปากนาสวน ตำบลนาสวน
อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี

ชุมชนบ้านโป่งหวาย ตั้งอยู่ที่ราบเชิงเขา มีลำห้วยแม่ปลาสร้อยไหลผ่าน โดยชาวบ้านนิยมปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์ นอกจากนี้ยังมีการปลูกฝ้าย และบางรายปลูกตะไคร้เพื่อขาย ซึ่งเป็นพืชที่ช้างไม่กิน อย่างไรก็ตามชาวบ้านพบว่าในระยะหลังมานี้ช้างป่าจะกินทั้งฟักทองและมะขาม ช้างเริ่มออกมากินพืชไร่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554  และมีความถี่มากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยจะออกมาหลายช่องทาง โดยเฉพาะริมห้วยแม่ปลาสร้อย แต่ละชุมชนมีประวัติการเริ่มต้นของปัญหาในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน แต่มีแนวโน้มของปัญหาไปในทิศทางเดียวกัน

จากปัญหาที่พบ ทีมวิจัยชุมชนสลักพระ โดยมีสมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (ZSL Thailand) เป็นพี่เลี้ยงนักวิจัย ได้ร่วมกันศึกษาปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง และมีการวางแผนและดำเนินการแก้ปัญหาอย่างมีส่วนร่วม ระหว่างชุมชน ภาคเอกชน และหน่วยงานภาครัฐ โดยมีการศึกษาวิธีการป้องกันและลดผลกระทบจากช้างป่า พร้อมไปกับการศึกษานิเวศวิทยาช้างป่า โดยชุมชนเป็นนักวิจัยที่เข้าใจพฤติกรรมช้างป่ามากขึ้น ก่อนนำความรู้จากงานวิจัยมาเป็นข้อมูลแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

เพื่อหาแนวทางในการลดผลกระทบช้างป่าในพื้นที่ตามความต้องการ และข้อค้นพบที่ได้จากงานวิจัย ซึ่งเบื้องต้นทางทีมวิจัยชุมชนสลักพระได้วางแนวทางการลดผลกระทบด้วยการทดลองระบบเฝ้าระวังด้วยการเพิ่มไฟส่องสว่าง แปลงทดลองพืชเพื่อลดผลกระทบจากช้างป่า และสร้างการทำงานร่วมระหว่างชุมชนและหน่วยงานในพื้นที่

วัตถุประสงค์โครงการวิจัย

  1. เพื่อศึกษานิเวศวิทยาของช้างป่าบริเวณพื้นที่ด้านตะวันตกของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ
  2. เพื่อศึกษาแนวทางป้องกันและลดผลกระทบจากช้างป่าบริเวณพื้นที่ด้านตะวันตกของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระและนำไปสู่การออกแบบการป้องกันและผลกระทบจากช้างป่าอย่างมีส่วนร่วมได้อย่างเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่
นางสาวกฤษณา แก้วปลั่ง

นางสาวกฤษณา แก้วปลั่ง

หัวหน้าโครงการวิจัยสลักพระ

ผู้อำนวยการ Panthera ประเทศไทย และอดีตผู้อำนวยการ สมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (ZSL) ประเทศไทย

องค์กรร่วมวิจัย

สลักพระ
ZSL

กิจกรรมในพื้นที่