Tai Rom Yen
โครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังป้องกัน และลดผลกระทบช้างป่าในพื้นที่รอบเขตอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น จังหวัดสุราษฎร์ธานี
พื้นที่อุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็นเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มป่าอนุรักษ์เขาหลวง-เขาบรรทัด มีลักษณะเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน โดยอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกาญจนดิษฐ์ อำเภอบ้านนาสาร และอำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฏร์ธานี ชุมชนส่วนใหญ่ที่อยู่ติดกับอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น ประกอบอาชีพทางการเกษตร ปลูกยางพารา ปาล์ม และสวนผลไม้ เช่น ทุเรียน เงาะ มังคุด และลองกอง พื้นที่ใต้ร่มเย็นในอดีตเคยเป็นพื้นที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมีการเคลื่อนไหว ก่อนประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น
พื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็นเป็นสังคมพืชในป่าดิบชื้น โดยคาดการณ์ว่ามีช้างป่าอยู่ประมาณ 20 ตัว จากประชากรช้างป่าในกลุ่มป่าเขาหลวง-เขาบรรทัดที่อาศัยอยู่ประมาณ 100 ตัว ตั้งแต่ปี 2547 ช้างป่าแห่งนี้เริ่มออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์มายังเขตชุมชนรอบๆอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น ทำให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตและพืชผลทางการเกษตร ที่ชัดเจนคือ ปริมาณพืชไม้ผลที่ถูกทำลายแม้ปริมาณน้อย แต่มูลค่าต่อหน่วยกลับสูงมากเมื่อเทียบกับพืชไร่ เช่น หากช้างทำลายต้นลองกองที่มีอายุ 10 ปีล้มลงเพียงหนึ่งต้น มูลค่าที่เสียหายจะสูงเพราะผลผลิตในปีนั้นรวมถึงปีถัดๆไปจะสูญเสียไป ประเด็นที่สำคัญไม่น้อยกว่าความเสียหายทางการเกษตรคือความระแวงหวาดกลัวของชุมชนเพราะส่วนใหญ่มีอาชีพกรีดยางตอนกลางคืน และด้วยทัศนวิสัยของระบบเกษตรแบบสวน ทำให้เห็นช้างได้ยาก
พื้นที่ที่ช้างป่าออกมาหากินบ่อยที่สุด คือบริเวณตำบลคลองสระตำบลคลองสระ ตำบลป่าร่อน และตำบลช้างซ้าย อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งปัจจุบันมีฝูงช้างป่าอย่างน้อย 8 ตัว อาศัยอยู่ภายนอกป่าตลอดทั้งปี ขณะที่ในตำบลบ้านส้อง อำเภอเวียงสระ และตำบลลำพูนในเขตอำเภอบ้านนาสารนั้น ก็มีช้างออกมาเป็นประจำเช่นกัน
จากเวทีชุมชนของโครงการวิจัย ฯ ที่ชวนชุมชนร่วมคิดร่วมคุยจึงมีความเห็นร่วมกันว่า ควรหาแนวทางคลี่คลายและลดผลกระทบ โดยลงมือวิจัยร่วมกัน เพื่อศึกษาหารูปแบบการเฝ้าระวังและป้องกันช้างที่เหมาะสมและปลอดภัยกับพื้นที่ใต้ร่มเย็น และค้นหาวิธีการที่เหมาะสมที่สุดในการช่วยลดผลกระทบจากช้างป่าที่เข้ามาในพื้นที่ชุมชน โดยเน้นให้ทีมวิจัยชุมชนตั้งคำถาม ออกแบบเครื่องมือการวิจัยร่วมกัน และวิเคราะห์ข้อมูลทำความความเข้าใจไปพร้อมกันในชุมชน ซึ่งเป้าหมายสุดท้ายคาดหวังถึงการสะสมองค์ความรู้ท้องถิ่นให้เกิดเป็นคู่มือเกี่ยวกับแนวทางการอยู่ร่วมกันของคนกับช้างในพื้นที่ระบบนิเวศการเกษตรแบบสวนของภาคใต้
วัตถุประสงค์โครงการวิจัย
- เพื่อทดลองรูปแบบวิธีการเฝ้าระวังและป้องกันช้างป่ารูปแบบต่างๆ และค้นหาวิธีการที่เหมาะสมที่สุดในการช่วยลดผลกระทบจากช้างป่าที่เข้ามาในพื้นที่ชุมชน
- เพื่อให้ชุมชนเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลช้างป่าได้โดยอาศัยเครื่องมือที่ร่วมกันออกแบบ สามารถรู้เท่าทันสถานการณ์ช้างป่าได้
- เพื่อสะสมองค์ความรู้ท้องถิ่นให้เกิดเป็นคู่มือเกี่ยวกับแนวทางการอยู่ร่วมกันของคนกับช้างในระบบนิเวศการเกษตรแบบสวนของภาคใต้