ช้างนับเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความฉลาดในเรื่องของการเรียนรู้และความจำเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก นอกจากขนาดตัวที่ใหญ่ได้ถึง 4 เมตรในช้างแอฟริกันแล้ว ช้างก็มีขนาดสมองที่ใหญ่และประกอบไปด้วยเซลล์ประสาทเกือบ 257 ล้านล้านเซลล์ มากกว่าเซลล์ประสาทของสมองมนุษย์ประมาณ 3 เท่า1 และมีน้ำหนักมากที่สุดได้ถึง 5 กิโลกรัม นับเป็นน้ำหนักสมองที่หนักที่สุดเมื่อเทียบกับสัตว์บกชนิดอื่น ๆ ด้วย2 แต่คำถามของเราก็คือ แล้วนักวิทยาศาสตร์รู้ได้อย่างไรว่าช้างนั้นมีความฉลาด หรือว่าเขาวัดความฉลาดของช้างจากอะไร
คำตอบก็คือ นักวิทยาศาสตร์ได้ออกแบบการทดลองมาเพื่อทดสอบความฉลาดของช้าง หรือในบางครั้ง ข้อมูลก็มาจากการบันทึกพฤติกรรมช้างในธรรมชาติก็ได้เช่นกัน โดยตัวอย่างความฉลาดของช้างในด้านเรียนรู้หรือจดจำสามารถแบ่งออกเป็นด้านต่าง ๆ ได้ดังนี้
- การจดจำตัวเองได้ในกระจก (Mirror self-recognition)
การจดจำตัวเองได้ในกระจก นับเป็นความฉลาดทางการเรียนรู้อย่างหนึ่งของสิ่งมีชีวิต และยังเชื่อมโยงกับความเอาใจใส่ (Empathy) ต่อสิ่งมีชีวิตตัวอื่น ๆ ได้อีกด้วย โดยตัวอย่างของสัตว์ที่มีความสามารถในการจดจำตัวเองได้นั้นมีลิงชิมแพนซีและโลมาปากขวด นักวิทยาศาสตร์ Joshua Plotnik และคณะได้ทำการทดลองการจดจำตัวเองได้ในกระจกกับช้างเอเชีย 3 ตัวในสวนสัตว์ โดยใช้เทคนิค Mark test หรือ การทาสีไว้บนหน้าผากของช้างด้านหนึ่ง หากช้างมองกระจกและแสดงพฤติกรรมเอางวงมาแตะที่จุดที่ได้ทาสีไว้นั้นก็จะถูกบันทึกว่า ช้างมีความสามารถในการจดจำตัวเองในกระจกได้ โดยผลการทดลองพบว่า ช้าง 1 ใน 3 ตัวผ่าน Mark test และนับว่ามีความสามารถในการจดจำตัวเองในกระจก3
- การใช้เครื่องมือ (Tool use)
นักวิทยาศาสตร์ ควาญช้างและผู้ดูแลสวนสัตว์ได้สังเกตเห็นว่าช้างสามารถใช้งวงจับกิ่งไม้ หักมันออกมาและใช้ปัดแมลงรำคาญได้ทั้งในสวนสัตว์และในธรรมชาติ พฤติกรรมใช้กิ่งไม้ใบไม้ในการปัดแมลงนี้สามารถพบได้ทั้งในช้างเอเชียและช้างแอฟริกัน4 นอกจากการใช้เครื่องมือแล้ว ช้างยังสามารถดัดแปลงกิ่งไม้ที่ยาวเกินหรือมีกิ่งมากเกินให้มีความเหมาะสมในการปัดแมลงออกจากตัวได้อีกด้วย5
- การแก้ปัญหา (Problem solving)
ถัดจากการใช้เครื่องมือสำหรับปัดแมลง ช้างยังสามารถประยุกต์ใช้เครื่องมือเพื่อทำให้สามารถหยิบของที่อยู่ไกลเกินเอื้อมได้ เช่น ช้างเลี้ยงเลื่อนกล่องพลาสติกขนาดใหญ่ไปไว้ในจุดที่อาหารถูกแขวนอยู่และปีนกล่องนั้นขึ้นไปยืนเพื่อใช้งวงจับอาหารชิ้นนั้นลงมา ในกรณีที่ไม่มีกล่อง ช้างก็สามารถหยิบอุปกรณ์อื่น ๆ มาวางซ้อนกันและทำแบบเดิมเพื่อไปหยิบอาหารลงมาได้อีกเช่นกัน6 ช้างบางตัวยังสามารถเรียนรู้ว่าต้องใช้ท่อนไม้ใหญ่ผลักรั้วไฟฟ้าให้ล้มลงก่อนข้ามเข้าไปกินพืชในพื้นที่เกษตรกรรมได้อีกเช่นกัน
- การร่วมมือกัน (Cooperation)
Joshua Plotnik และคณะได้ทำการทดลองพฤติกรรมแสดงความร่วมมือระหว่างช้างเอเชีย 2 เชือกด้วยการสร้างถาดขนาดใหญ่ที่ใส่อาหารไว้พร้อมกับมีเชือกโยงถาดนั้นไว้จากปลายทั้ง 2 ด้าน ช้างจะต้องดึงเชือกทั้ง 2 เส้นพร้อมกันถาดจึงจะสามารถเลื่อนออกมาและสามารถกินอาหารนั้นได้7 เพื่อความเข้าใจที่ง่ายขึ้น ลองชมวิดิโอด้านล่างได้เลย
วิดิโอการทดลองการแสดงความร่วมือกันของช้างเลี้ยงในการกดึงถาดอาหารออกมาพร้อมกัน บันทึกวิดิโอโดย Plotnik et al, 2011
- ความสามารถในด้านการจำ (Remember)
การเรียนรู้ของสัตว์สามารถทำการทดสอบได้ด้วยความจำ Lucy King และคณะได้ตั้งข้อสังเกตว่าช้างจะไม่เข้าไปอยู่ใกล้ต้นไม้ที่มีรังผึ้งอยู่ ซึ่งน่าจะเกี่ยวข้องกับการที่ช้างอาจเคยมีประสบการณ์ถูกผึ้งต่อยมาก่อน ทีมนักวิจัยจึงได้ทำการทดสอบดูว่าช้างจะมีปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อได้ยินเสียงผึ้งบิน โดยได้ติดลำโพงไว้บนต้นไม้ที่ช้างชอบเข้ามาพักตอนกลางวัน และบันทึกพฤติกรรมของช้างที่ตอบสนองต่อเสียงผึ้ง ผลการทดลองพบว่า ช้างส่วนใหญ่เดินหนีออกจากต้นไม้ที่มีเสียงผึ้งดังออกมา8
อีกตัวอย่างหนึ่งด้านความจำช้างของก็คือ “แม่แปรก” ช้างเพศเมียผู้นำโขลงที่มีอายุมากที่สุดและมีประสบการณ์มากที่สุดจะนำโขลงไปยังพื้นที่ที่มีน้ำและอาหารในช่วงที่แล้งจัดหรือพาไปอยู่ในพื้นที่มีอันตรายจากภัยคุมคามน้อยกว่า ส่งผลให้ช้างโขลงนั้นมีโอกาสอยู่รอดและได้ส่งต่อประสบการณ์จากรุ่นสู่รุ่นมากกว่าโขลงที่มีแม่แปรกอายุยังน้อย9
โดยสรุป เราก็พอจะรู้แล้วว่าทั้งช้างป่าและช้างเลี้ยงสามารถรู้จักตัวเอง มีความสามารถในการประยุกต์ใช้เครื่องมือเพื่อแก้ปัญหาหลาย ๆ อย่าง และมีความจำที่แม่นยำ อีกทั้งยังมีการช่วยเหลือและประสานงานกันระหว่างตัวอีกด้วย หากเชื่อมโยงกับสภาพระบบนิเวศที่เปลี่ยนไป เมื่อช้างป่าได้มาพบกับพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงจากป่าไม้ไปเป็นพื้นที่เกษตรกรรม หรือพบเจอกับพฤติกรรมของมนุษย์อย่างเรา ๆ เช่น การขับรถเสียงดังหรือบีบแตรใส่ช้าง ช้างจะมีการตอบสนองต่อโลกใหม่ พื้นที่ใหม่อย่างไรกันบ้าง เราจะหาคำตอบไปด้วยกันในบทความถัดไป
“คนปรับ ช้างเปลี่ยน”
อ้างอิง
1. Herculano-Houzel, et al. 2014. The elephant brain in numbers. Frontiers in Neuroanatomy, 8, 46. https://doi.org/10.3389/fnana.2014.00046.
2. https://blogs.scientificamerican.com/brainwaves/searching-for-the-elephants-genius-inside-the-largest-brain-on-land/
3.Plotnik, et al. 2006. Self-recognition in an Asian elephant. PNAS, 103, 45: 17053-17057. https://doi.org/10.1073/pnas.0608062103
4.Chevalier-Skolnikoff & Liska. 1993. Tool use by wild and captive elephants. Animal Behaviour, 46, 2: 209-219.
5. Hart, et al. 2001. Cognitive behaviour in Asian elephants: use and modification of branches for fly switching. Animal Behaviour, 62, 5: 839-847.
6. Foerder, et al. 2011 Insightful problem solving in an Asian elephant. PLoS ONE; 6(8): e23251.
7. Plotnik, et al. 2011. Elephants know when they need a helping trunk in a cooperative task. PNAS. https://doi.org/10.1073/pnas.1101765108.
8. King, Douglas-Hamilton & Vollrath. 2007. African elephants run from the sound of disturbed bees. Current Biology; 17, 19: 832-833. https://doi.org/10.1016/j.cub.2007.07.038
9. Foley, et al. Matriarchs as repositories of social knowledge in African elephants. Science; 292: 491-494.