เทศกาลนับกระทิงและช้าง วังน้ำเขียว ณ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า ตำบลวังน้ำเขียว อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา วันที่ 26-27 มีนาคม 2565
เครือข่ายเสียงคนเสียงช้าง (Human Elephant Voices Network) ร่วมจัดงาน “เทศกาลนับกระทิงและช้างป่า” พร้อมกันกับการเปิดเส้นทางท่องเที่ยวมิตรสัตว์ป่าร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์สัตว์ป่าวังน้ำเขียว ฝ่ายพันธกิจสัมพันธ์ นวัตกรรมและความเป็นผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (SUT Entrepreneurship) มูลนิธิฟรีแลนด์ (Freeland Foundation) มูลนิธิโกลเด้นไทรแองเกิ้ลเอเชี่ยนเอเลเฟ้นท์ (The Golden Triangle Asian Elephant Foundation) และ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ณ จุดสกัดเขาสูง เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างวันเสาร์ที่ 26 และวันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม 2565
เทศกาลนับกระทิงและช้างป่า วังน้ำเขียว ณ จุดสกัดเขาสูง เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้าได้รับเกียรติเปิดงานโดย นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ก่อนที่จะเริ่มกิจกรรมเสวนาตามกำหนดการที่ได้วางไว้
เวทีเสวนา “ความทรงจำและมองไปข้างหน้า: ชุมชน กระทิงและช้างป่าวังน้ำเขียว”
มีผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย คุณบริพัตร สุนทร นักอนุรักษ์รุ่นบุกเบิกฟื้นฟูป่าเขาแผงม้าจากโรงเรียนป่าไผ่ คุณอรรณพ บัวนวล หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า คุณสุวรรณ ยงกระสันและคุณกังวาฬ ศรีสวาท ตัวแทนชุมชนบ้านคลองทรายที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่าและกระทิง ชาวบ้านนักวิจัยและพัฒนาการท่องเที่ยวมิตรช้างป่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์สัตว์ป่าวังน้ำเขียว คุณณัฐวุฒิ รักษ์กุศล ผู้ประสานงานกลุ่มรักษ์เขาใหญ่ ดร. นพดล ประยงค์ อดีตนักวิจัยนิเวศวิทยาและการอนุรักษ์กระทิงเขาแผงม้า คุณระวี ถาวร นักวิชาการอิสระด้านการจัดการป่าไม้และสัตว์ป่าจาก RECOFT โดยมีวิทยากรดำเนินรายการ คือ ดร. พิเชฐ นุ่นโต และ ดร. จิราภรณ์ เทียมพันธ์พงศ์ นักวิจัยในโครงการวิจัยและพัฒนาระบบเพื่อการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้าง เครือข่ายเสียงคนเสียงช้าง ทั้งรูปแบบออนไลน์ (online) และออนไซท์ (on-site) ผ่าน Zoom application และ Facebook Live จาก SUT Entrepreneurship
ข้อสรุปของเวทีเสวนาแสดงให้เห็นถึงความเป็นมาของพื้นที่เขาแผงม้า จากภูเขาหัวโล้น เกิดไฟป่าทุกปีในฤดูแล้ง จนมีการอนุรักษ์ฟื้นฟูให้กลับมาเป็นทุ่งหญ้าและป่าเขา มีการจัดตั้งเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า และอุดมสมบูรณ์จนสามารถทำให้ประชากรกระทิงเพิ่มจำนวนและออกมาหากินนอกป่าอนุรักษ์ จนนำสู่มาความขัดแย้งระหว่างคนกับกระทิง ซึ่งในปัจจุบัน ก็พบว่ามีช้างป่าออกจากป่ามาอยู่ในบริเวณนี้อีกเช่นกัน ทำให้ชุมชนเริ่มปรับตัว เปลี่ยนพืชไร่เป็นพืชสวน เช่น เปลี่ยนจากการปลูกข้าวโพดเป็นการปลูกแก้วมังกร หรือแม้กระทั่งมีการเปลี่ยนอาชีพ ส่งเสริมการปลูกไม้กฤษณาหรือการท่องเที่ยวโฮมสเตย์และการท่องเที่ยวเชิงลาดตระเวนเพื่อการอนุรักษ์ประชากรสัตว์ป่าและบรรเทาผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่าในพื้นที่
การอบรม “รู้จักกระทิงและช้างป่า” และนับกระทิง
อาสาสมัครนับกระทิงและช้างป่าจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีทั้งหมด 21 คนได้ผ่านการอบรมการจำแนกกระทิงและช้างป่า และการใช้แอพพลิเคชั่น iNaturalist โดยนางสาวณัฐนรี ปิติมล และ นายบุตดา โชติมานวิจิต นักวิจัยจากเครือข่ายเสียงคนเสียงช้างป่า ก่อนออกไปประจำการที่จุดนับกระทิงนอกพื้นที่อนุรักษ์ในช่วงเวลา 15:00-18:00 และ 05:00-07:00 ของอีกวันหนึ่ง ทั้งนี้ ในแต่ละจุดนับกระทิงและช้างจะมีเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้าและตัวแทนชุมชนไปเป็นประจำจุดนับกระทิงและช้างป่าในทั้ง 8 จุดด้วย
ผลการนับกระทิงและช้างป่าโดยการนับตรงประจำจุดนั้นสามารถนับกระทิงได้ทั้งหมด 243 ตัวโดยจุดที่มีการพบกระทิงมากที่สุดคือ จุดสกัดเขาสูง ลานกางเต๊นท์เส และสำนักสงฆ์หุบกระทิง อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าได้ยินเสียงช้างร้องอยู่ภายในป่า 1 ครั้ง แต่ไม่พบตัวช้างโดยตรงระหว่างการจัดเทศกาลนับกระทิงและช้างเลย ข้อมูลกระทิงและช้างจากอาสาสมัครในเทศกาลนับกระทิงและช้างครั้งนี้จะนำไปใช้เป็นฐานข้อมูลสัตว์ป่าชุมชนเพื่อต่อยอดในการจัดการการท่องเที่ยวอนุรักษ์สัตว์ป่าและบรรเทาความรุนแรงของปัญหาระหว่างคนกับสัตว์ป่าต่อไป
เปิดเส้นทางท่องเที่ยวมิตรสัตว์ป่าโดยชุมชนและเทศกาลนับกระทิง
เส้นทางท่องเที่ยวมิตรสัตว์ป่าออกแบบโดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์สัตว์ป่าวังน้ำเขียว มูลนิธิฟรีแลนด์ และเครือข่ายเสียงคนเสียงช้าง ได้รับเกียรติเปิดงานโดย นายสุพจน์ แสงมี นายอำเภอวังน้ำเขียว กล่าวเปิดเส้นทางท่องเที่ยวมิตรสัตว์ป่า พร้อมกับหน่วยงานประกอบด้วย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จังหวัดนครราชสีมา และสมาคมท่องเที่ยววังน้ำเขียว เข้าร่วมในพิธีเปิดเส้นทางท่องเที่ยวมิตรสัตว์ป่าครั้งนี้ด้วย
เวทีเสวนาโต๊ะกลม “การจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอย่างยั่งยืนของชาววังน้ำเขียว”
ช่วงเช้าวันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม 2565 ดร. มัลลิกา สังข์สนิท รองอธิการบดี ฝ่ายพันธกิจสัมพันธ์ นวัตกรรมและความเป็นผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี นำการพูดคุยเสวนาโต๊ะกลมเรื่องการจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอย่างยั่งยืนของชาววังน้ำเขียว โดยมีแขกรับเชิญมาให้ความเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์สัตว์ป่าวังน้ำเขียวที่มีตัวแทนคือ นายสุวรรณ ยงกระสันและนายกังวาฬ ศรีสวาท ประกอบด้วยประธานชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวอำเภอวังน้ำเขียว ประธานสมาคมท่องเที่ยววังน้ำเขียว นายกอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า อ. รัชนี คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มูลนิธิฟรีแลนด์ มูลนิธิโกลเด้น ไทรแองเกิ้ล เอเชียน เอเลเฟนท์ และโครงการวิจัยและพัฒนาระบบการอยู่ร่วมระหว่างคนกับช้าง ฯ เครือข่ายเสียงคนเสียงช้าง
เวทีบรรยาย “การจัดการ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อการท่องเที่ยวและการอนุรักษ์สัตว์ป่า: เวทีคืนความรู้ให้กับชุมชนและท้องถิ่น”
ดำเนินรายการโดย ดร. พิเชฐ นุ่นโต เครือข่ายเสียงคนเสียงช้าง มีลำดับการบรรยายงานวิจัยเพื่อคืนความรู้ให้กับชุมชนดังนี้
- นวัตกรรมเพื่อการอนุรักษ์และจัดการสัตว์ป่าในพื้นที่เขาใหญ่-เขาแผงม้า เรื่อง กล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติและระบบส่งภาพโดยสัญญาณโทรศัพท์ และแอพลิเคชั่น ELETOR กับ Roady โดยโครงการ ANSEE มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
- นิเวศวิทยาการเคลื่อนที่ของกระทิงและโรคระบาดในสัตว์ป่า โดย น.สพ.ดร. บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- การบริหารจัดการการท่องเที่ยวสัตว์ป่าในพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติของประเทศไทย โดย อ.ดร. อษารดี ภู่มาลี คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- การจัดการการท่องเที่ยวโดย คุณจอห์น โรเบิร์ต จาก The Golden Triangle Asian Elephant Foundation
- การจัดการความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่าด้วยการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และหลักเกณฑ์มาตรฐานการท่องเที่ยวชมสัตว์ป่า โดย นางสาวณัฐนรี ปิติมล นักวิจัยในเครือข่ายเสียงคนเสียง
และในช่วงท้ายของเทศกาลนับกระทิงและช้าง กลุ่มวิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์สัตว์ป่าวังน้ำเขียวได้นำอาสาสมัครนับกระทิงและช้างป่าชมเส้นทางท่องเที่ยวมิตรสัตว์ป่าจากจุดสกัดเขาสูงไปยังบ้านคลองทราย อาสาสมัครได้เห็นรูปแบบการเฝ้าระวังกระทิงและช้างป่าของชุมชน หอคอยเฝ้าระวัง ร่องรอยสัตว์ป่า เช่น กระทิง ช้างและกวาง รวมทั้งการปรับเปลี่ยนพืชและเสริมอาชีพของชุมชนในหมู่บ้านคลองทรายก่อนจะกลับมาเก็บสัมภาระและเดินทางกลับไปที่มหาวิทยาลัย
ติดตามข่าวสารเสียงคน เสียงช้างได้ที่นี่
Facebook: humanelephantvoices